ความกังวล

  • By: suwat
  • 05:57:10 29-08-2022

ทำความรู้จักกับความกังวล

                  ความรู้สึกกังวลแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตตามปกติ เวลาที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เช่น การเรียน การสอบ สุขภาพ รวมถึงปัญหาครอบครัว เหล่านี้มักจะกระตุ้นให้รู้สึกกังวลได้เสมอ

                  กลุ่มนักศึกษามีความเครียดที่อาจนำไปสู่ความกังวลได้เช่นกัน นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนช่วงมัธยม ซึ่งนับว่าคุณครูช่วยเหลืออยู่มากพอสมควร สู่การเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องพึ่งพิงตัวเองมากขึ้น ทั้งยังต้องแยกจากครอบครัวอันเป็นที่รัก อยู่ห่างจากบ้าน ต้องเรียนรู้การเข้าสังคม นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในแง่ของการพยายามรักษาระดับผลการเรียน ต้องรับผิดชอบและจัดการภาระหน้าที่ และการปรับตัวกับเพื่อนกลุ่มใหม่ จึงเป็นเรื่องปกติที่ความกังวลจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในชีวิตมหาวิทยาลัย

 

เรากังวลอยู่หรือเปล่านะ มาเช็คตัวเองกันดีกว่า

/ รู้สึกกังวลอย่างมาก มีอาการทางกายเกิดขึ้นร่วมกัน และส่งผลต่อการใช้ชีวิต

/ ครุ่นคิดซ้ำ ๆ เกี่ยวกับอนาคตหรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

/ ครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ควบคุมความคิดยากมากหรือควบคุมไม่ได้

/ ครุ่นคิดจนส่งผลต่อการนอนหลับ นอนไม่หลับเพราะความคิดเยอะไปหมด

/ มีอาการกระสับกระส่ายและผ่อนคลายตัวเองไม่เป็น รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา

/ มีปัญหาเกี่ยวกับการมีสมาธิ จดจ่อไม่ได้


หากมีอาการเหล่านี้หลายๆข้อ อาจหมายถึงภาวะวิตกกังวล หากอยากประเมินตัวเองว่าเรากำลังวิตกกังวลในระดับไหน อาจลองทำแบบทดสอบระดับความเศร้า ความกังวลและความเครียด 


                  มีอีกหลายปัจจัยที่ร่วมกระตุ้นให้เกิดความกังวลขึ้นในกลุ่มนักศึกษา เช่น บางคนดื่มกาแฟมากเพราะต้องการยืดเวลาอ่านหนังสือแต่พฤติกรรมนี้ก็รบกวนการนอนหลับ และเมื่ออดนอนหลายคืนหรืออดนอนทั้งคืนก็ส่งผลต่อความกังวล นอกจากนี้ ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวในนักศึกษาบางคนที่รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงความเครียดจากการเรียน โดยเฉพาะเมื่อเกรดน้อยเกินกว่าเกณฑ์ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะต้องออกจากระบบ เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลให้นักศึกษารู้สึกกังวล

 

รับมืออย่างไรเมื่อพบว่าตัวเองมีภาวะกังวล

สำหรับนักศึกษา

-ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความกังวลของตนเอง รวมถึงการสังเกตว่าสัญญาณต่างๆ ก่อนที่จะรู้สึกกังวลมากเป็นอย่างไร อาจเป็นอาการตามเช็คลิสต์ด้านบน หรืออาการทางกายอื่น เช่น รู้สึกใจสั่น ใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อตึงง่าย ปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน เป็นต้น ซึ่งอาการอาจต่างกันไปในแต่ละคน ทำความเข้าใจเรื่องความกังวลเพิ่มเติมได้จากlink นี้ [ Manage youe anxiety : จัดการความกังวล]

- เมื่อเข้าใจสัญญาณแล้วจะทำให้เตรียมพร้อมรับมือกับอารมณ์ที่กำลังซัดเข้ามาได้อย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เมื่อสังเกตสัญญาณความกังวลของตัวเราได้แล้ว ลองฝึกใช้วิธีผ่อนคลายเวลาที่รู้สึกกังวล  หากรู้สึกว่าอารมณ์และความกังวลท่วมท้นมากไม่สามารถผ่อนคลายได้เลย ลองฝึกวิธีกลับมาสู่ตัวเอง (Grounding technique) ดูก่อน  แล้วสังเกตว่าวิธีไหนที่เหมาะกับเรา ช่วยให้เราสงบลงได้

-ไม่หลีกเลี่ยงแต่พยายามแก้ปัญหา การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีความท้าทาย หลายคนอาจเคยเผชิญกับเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจและรับมือเรื่องเหล่านั้นด้วยการหลีกเลี่ยงมัน เช่น ไม่เข้าเรียนแต่นอนเล่นมือถืออยู่บนเตียง รู้ไหมว่าเมื่อเวลาผ่านไป การพฤติกรรมหลีกเลี่ยงยิ่งทำให้ความกังวลแย่ลง จึงอยากให้ลองฝึกตัวเอง ค่อยๆ เผชิญกับความไม่สบายใจ ค่อยๆ เผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ชอบ ซึ่งจะทำให้ทดลองรู้สึกและฝึกรับมือกับความกังวลที่เกิดขึ้น

-ควรสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกไป อาจเริ่มพูดคุยหรืออธิบายสิ่งที่กำลังให้เผชิญให้คนที่รู้สึกไว้ใจฟัง ไม่ว่าจะเพื่อนหรือครอบครัวก็ได้ เมื่อกล้าสื่อสารออกไป อย่างน้อยทำให้เราได้พูดระบายสิ่งที่กำลังกังวลออกไปได้บ้าง นอกจากนี้ ก็เป็นการอนุญาตให้คนที่ไว้ใจได้เข้ามา support ได้เร็วขึ้น

-ดูแลตนเอง (Self-care) นักศึกษาหลายคนเมื่อยุ่งกับการเรียนแล้วก็มักละเลยการดูแลตนเอง เช่น ทานอาหารไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกาย นอนไม่เป็นเวลา ซึ่งเมื่อกิจวัตรเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและขาดการเอาใจใส่ก็อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียดและความกังวลได้ง่ายขึ้น จึงอยากชวนให้พยายามรักษากิจวัตรประจำวันให้มีความสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ตรงเวลา นอนพักผ่อนเมื่อถึงเวลา ตื่นนอนในช่วงเช้า และหลีกเลี่ยงการใช้เตียงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการนอนหลับ


สำหรับผู้ปกครอง

-ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ รับฟังอย่างตั้งใจเมื่อลูกเล่าเรื่องที่ทำให้เขาไม่สบายใจให้ฟัง หรือถามไถ่เกี่ยวกับความกังวลเรื่องเรียนเพื่อช่วยกันคิดหาวิธีการแก้ปัญหา แต่พยายามไม่กดดัน


เมื่อพบว่าความกังวลนั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อความการเรียน การทำงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังรับรู้ได้ว่าอารมณ์มันแย่เกินรับมือ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถเข้าถึงศูนย์ช่วยเหลือดูแลนักศึกษา เช่น คลินิกสุขภาพใจ สำหรับนักศึกษาแพทย์ หรือ Viva City เพื่อเข้าปรึกษาและขอความช่วยเหลือได้ทันที


Powered by Froala Editor

Latest Post

  • self care activities : ดูแลตัวเอง ดูแลใจ

    self care activities : ดูแลตัวเอง ดูแลใจ

  • การใช้สารเสพติด

    การใช้สารเสพติด

  • ความเครียด

    ความเครียด

  • ความกังวล

    ความกังวล

  • ซึมเศร้า

    ซึมเศร้า