พลู

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Piper betle L.

ชื่อวงศ์                : Piperaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

ไม้เถาเนื้อแข็ง รากฝอยออกบริเวณข้อใช้ยึดเกาะ ข้อโป่งนูน ใบ  เดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 8-12 ซม. ยาว 12-16 ซม. มีกลิ่นเฉพาะและมีรสเผ็ด ดอก  ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กอัดแน่นเป็นรูปทรงกระบอก แยกเพศ สีขาว ผล  เป็นผลสด กลมเล็กเบียดอยู่บนแกน พลูมีหลายพันธุ์ เช่นพลูเหลือง พลูทองหลาง

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ด เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ขับลม ตามชนบท ใช้ตำกับเหล้า ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ คนแก่ใช้ทาปูนแดงรับประทานกับหมาก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้ใบสด 3-5 กรัม ต้มน้ำกินสำหรับแก้อาการปวดท้อง แก้ลมพิษ ให้ใช้ใบสดตำผสมเหล้าทาบริเวณที่เป็น ใช้เคี้ยวแล้วคายทิ้งวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยดับกลิ่นปาก  แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและบำรุงกระเพาหาร ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนหนึ่งแก้วใช้ดื่ม  ลดปวดบวม ใช้ใบพลู ใบใหญ่ ๆ นำไปอังไฟให้ร้อนใช้ไปประคบบริเวณที่ปวดบวมช้ำ  รักษากลากและฮ่องกงฟุต เอาใบสดโขลกให้ละเอียดดองกับเหล้าขาวทิ้งไว้ 15 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ประกอบด้วย chavicol, chavibitol, cineol, eugenol, carvacrol, caryophyllene, β-sitosterol, และอื่นๆ สารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้ปลายประสาชา แก้อาการคันได้ เนื่องจากไม่มีการรายงานการศึกษาฤทธิ์แก้แพ้ แก้อักเสบ จากสารประกอบ อาจเป็นสารพวก β-sitosterol ที่ช่วยลดอาการอักเสบ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.