ตำลึง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Coccinia grandis (L.) Voigt

ชื่อวงศ์                : Cucurbitaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็น 3 แฉก หรือ 5 แฉก โคนใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ มีมือเกาะยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ มีลักษณะเป็นรูประฆัง กลีบดอกสีขาว แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกออกตรงที่ซอกใบ ลักษณะของผลเป็นวงรีทรงยาวสีเขียวอ่อน เมื่อยามแก่จัดจะเป็นสีแดง รสเย็น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเย็น ใบสดตำคั้นน้ำแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยที่ทำให้ปวดแสบร้อนและคัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้พิษคันจากใบไม้คันหรือหนอนคัน (ตัวบุ้ง) โดยนำใบตำลึงสดสัก ๔-๕ ใบ มาขยี้ เอาน้ำชโลมหรือทาบริเวณที่คัน หรือใช้ใบสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
  • แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบตำลึงล้างน้ำต้มสุกให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำผสมดินสอพอง สะตุ (เผาจนสุก) ทาผิวบริเวณที่เป็นให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อาการแสบร้อนจะทุเลาลง แต่หากทาแล้วไม่รู้สึกเย็น ก็แปลว่ายาไม่ถูกโรคให้เลิกใช้
  • ยอด เถา ใบ และราก ตำคั้นน้ำดื่มแก้หลอดลมอักเสบ
  • ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล ให้เคี้ยวผลตำลึงอ่อนจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแสบจากแผลได้
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม
  • แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา หรือตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา
  • แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อน 3-4 ท่อนโดยแต่ละท่อน ยาว 1 คืบ นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟ จนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
  • ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสด ๆ
  • ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
  • ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในตำลึงมีสารเคมีที่ตรวจพบคือ Amino acid หลายชนิด β-Sitosterol มีรายงานว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ในระยะเวลาสั้น โดยใช้หนตะเภา ไม่มีรายงานการศึกษาฤทธิ์แก้แพ้

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.