หญ้าคา

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Imperata cylindrica (L.) Raeusch.

ชื่อวงศ์                : Poaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : รากสดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

เป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสจืด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นยาขับปัสสาวะ รากใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคตานขโมย ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาทีจนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้รากแห้ง ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำใส่น้ำ 250 ม.ล. แล้วต้มให้เหลือ 50 ม.ล. กินตอนอุ่นหรือเย็น วันละ 3 ครั้ง
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้รากแห้ง ประมาณ 30 กรัม ต้มน้ำกินหรือจะใช้ผสมรากบัว 15 กรัม ต้มน้ำกินก็ได้
  • แก้ปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ ใช้รากหญ้าคาสด 500 กรัม หั่นให้เป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วย ต้มให้เดือด จนรากจมน้ำรินกินตอนอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย กลางวัน 5-6 ครั้ง กลางคืนอีก 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้รากสด 1 กำมือ ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือ  15 มิลลิลิตร รินกินตอนอุ่นๆ หรืออาจจะใช้รากแห้งกับ เมล็ดผักกาดน้ำ อย่างละ 30 กรัม และน้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มร่วมกันแล้วรินน้ำกิน
  • แก้ปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ใช้รากสด 250 กรัม ใส่น้ำ 2 ลิตร แล้วต้มต่อไปให้เหลือ 1.2 ลิตร ใส่น้ำตาลนิดหน่อยแล้วรินเอาน้ำแบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือใช้รากแห้งชงกินแทนชาติดต่อกัน 5-15 วัน
  • แก้ออกหัด ร้อนในกระหายน้ำ โดยรากแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มบ่อยๆ
  • แก้เลือดกำเดาออกใช้ดอกแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำกินหลังอาหาร หรือใช้ดอกแก่ 15 กรัม ต้มน้ำกินแทนก็ได้ หรือใช้รากแห้งบดเป็นผง 2.6 กรัม ผสมน้ำซาวข้าวกินก็ได้เช่นกัน และสำหรับขณะที่เลือดกำเดาออก ให้ใช้ช่อดอกแห้งหรือขนตำอุดรูจมูกไว้เพื่อห้ามเลือด
  • แก้หอบให้ใช้รากสด กับเปลือกต้นหม่อน อย่างละเท่าๆ กัน (ประมาณ 1 กำมือ) ใส่น้ำ 2 ชาม ต้มจนให้เหลือน้ำ 1 ชามรินออก กิน เช้า-เย็น
  • แก้ไตอักเสบ โดยใช้รากแห้งกับดอกเจ๊กกี่อึ้ง อย่างละ 30 กรัม เปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม เหล้าขาว 3 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2 ครั้ง หรือใช้รากสด 60-120 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2-3 ครั้ง ก็ได้
  • แก้ดีซ่าน จากพิษสุรา ใช้รากสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม กิน
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อักเสบในทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน แก้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ส่วนการใช้ในสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนจีนตามที่ได้กล่าวมาให้ใช้ รากหญ้าคา 9-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม โดยใช้ราก 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม หรือแห้ง 10-15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          จากการวิเคราะห์พบว่า รากหญ้าคามี Arundoin, Cylindrin, กรดอินทรีย์น้ำตาล เป็นต้น ไม่มีพิษเฉียบพลัน และไม่มีการวิจัยด้านอื่น จากวารสารมีรายงานว่า ประเทศจีน-อินโดนีเซีย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.