ว่านหางจระเข้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Aloe barbadensis Mill.

ชื่อวงศ์                : Aloaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : วุ้นจากใบ

ลักษณะภายนอก :

มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบหนาและยาว อวบน้ำ แผ่นใบมีสีเขียว มีจุดยาวสีขาวอ่อนออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีหนามแหลมเล็ก ๆ สีขาวอยู่ห่างกัน ข้างในใบเป็นวุ้นสีเขียวอ่อน ส่วนดอกว่านหางจระเข้ ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ดอกมีสีแดงอมสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น เป็นรูปแตร ส่วนผลว่านหางจระเข้ เป็นผลแห้งคล้ายรูปกระสวย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสจืดเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการตัดใบสดของว่านหางจระเข้แล้วทาปูนแดงด้านหนึ่ง แล้วเอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • บรรเทาอาการปวดศีรษะ ให้เลือกใบว่านหางจระเข้ที่อยู่ล่างสุด ใบสด 1 ใบ (เพราะมีตัวยามากกว่า) ฝานตามขวางใบ หนาประมาณ 1/4 ซม. ใช้ปูนแดงทาตรงเนื้อที่มีลักษณะคล้ายวุ้นสีขาวใสๆ แล้วเอาทางด้านปูนแดงปิดบนขมับ
  • รักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ถอนพิษ โดยปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้หมด ขูดเอาวุ้นใสออกมาทาพอกบริเวณแผลที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกให้ชุ่ม เปลี่ยนวุ้นทุกวันจนกว่าจะหาย ช่วยระงับความเจ็บปวดด้วยและป้องกันการติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
  • การเลือกใช้ใบจากต้นว่านหางจระเข้จะต้องมีอายุประมาณ 1 ขึ้นไป และใช้ใบข้างล่างสุดที่มีรูปล่างอ้วน อวบ เปล่ง อันเป็นใช้ได้
  • จากการวิจัยวุ้นของว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่ปลอกเปลือกโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ Aseptic technique เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ
  • ก่อนที่จะนำยางของว่านหางจระเข้มาใช้ในการรักษาแผลก็ควรจะล้างก่อน เพื่อป้องกันน้ำยางจากเปลือกมีสารแอนทราควิโนนที่ติดอยู่ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคันหรือแพ้ได้
  • เมื่อตัดต้นว่านหางจระเข้มาแล้วควรที่จะใช้โดยทันทีภายใน 6 ชั่วโมงเพราะจะมีคุณค่าทางยาที่ดีและจะได้คุณภาพที่สูงสุด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          วุ้นในใบว่านหางจระเข้มีสารเคมีหลายชนิด เช่น Aloe-emodin, Aloesin, Aloin, สารประเภท glycoprotein, และอื่นๆอีกมาก ยางที่อยู่ในใบว่านหางจระเข้มีสาร antraquinone ที่มีฤทธิ์ขับถ่ายด้วย ใช้ทำเป็นยาดำ มีการศึกษาวิจัยรายงานว่าวุ้นหรือน้ำเมือกของว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรังและแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นในใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสมานแผลได้ด้วย

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.