ว่านมหากาฬ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Gynura pseudochina (L.) DC.

ชื่อวงศ์                : Compositae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัวใต้ดิน

ลักษณะภายนอก :

ไม้ล้มลุก เลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดิน รากเนื้อนิ่มอ่อน เปลือกรากเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อในเป็นสีขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

หัวมีรสเย็น ใช้กินเป็นยาดับพิษร้อน พิษกาฬ พิษอักเสบ พิษเซื่องซึม แก้ไข้ ระส่ำระสาย หรือกระสับกระส่าย ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกฝี ทำให้เย็น ถอนพิษ บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้กินดับพิษกาฬ พิษร้อน พิษไขเซื่องซึม กระสับกระส่าย รักษาอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้พอกแก้ฝีและแผลพุพอง โดยใช้ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นหรือนำส่วนหัวใต้ดิน ล้างทำความสะอาด ตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นฝีและแผลพุพอง วันละ 3-4ครั้ง
  • ใช้รักษาเริมและงูสวัดโดยใช้ใบสด 5-6ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะทีสะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย หรือใช้ใบสด 5-6ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำที่ได้ทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้ ช่วยในการถอนพิษจากสัตว์ต่างๆ อาทิ แมงป่อง ตะขาบ ตัวต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ นำต้น หัวหรือใบสดมาบดประคบทาแผลบริเวณถูกต่อย หรือนำส่วนตากแห้งบดผสมน้ำประทาประคบแผล จะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำลายพิษได้
  • ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด นำต้น หัวหรือดอก ตากแห้งแล้วบด นำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่ม ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ปวดบวม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          พบสารสี่ชนิดในใบของว่านมหากาฬได้แก่

quercetin 3-rutinoside (1), 3,5-di-caffeoylquinic acid (2), 4,5-di-caffeoylquinic acid (3), และ 5-mono-caffeoylquinic acid (4)

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.