เล็บมือนาง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Quisqualis indica L.

ชื่อวงศ์                : Combretaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง เลื้อยพาดพันไปกับต้นไม้อื่น ยาวได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจเลื้อยไปได้ไกลมากกว่า 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เถาอ่อนเป็นสีเขียว ตามลำต้นและเถาอ่อนมีขนสีเหลือหรือสีน้ำตาลอมเทาปกคลุมอยู่ แต่ต้นแก่ผิวจะเกลี้ยง โดยเถาแก่เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนแดง เปลือกค่อนข้างเรียบ หรือมีหนามเล็กน้อย ผลเป็นผลแห้งและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลมีขนาดโตประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเอียน เบื่อเล็กน้อย ใช้ขับพยาธิเป็นสีน้ำตาล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ช่วยขับพยาธิตัวกลม,พยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่และแห้ง 2-3 เมล็ด ( 4-5 กรัม) หั่นทอดกับไข่ให้เด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบรับประทานหรือบุบพอแตกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ส่วนผู้ใหญ่ ใช้ 5-7 เมล็ด (หนัก 10-15 กรัม) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำหรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้
  • ใช้แก้ตานซาง ตานขโมยในเด็กโดยใช้เมล็ดแห้ง 2-3 เมล็ด ทบให้แหลกแล้วผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนให้เด็กรับประทาน หรือนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นรากใช้ 6-10 กรัม
  • ใช้รักษาโรคผิวหนังให้ใช้เมล็ดแช่ในน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการ ใบสดใช้ตำพอกรักษาบาดแผล แก้ฝี แก้อักเสบ
  • ทั้งนี้ในการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พบว่า เมล็ด (ผล) เล็บมือนางมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิ คือ Quisqualic acid เมล็ดเล็บมือนางจึงถูกนำมาใช้ถ่ายพยาธิอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังนิยมใช้ในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เมล็ดเล็บมือนางจะประกอบด้วยน้ำมันและสาร Quisqualic acid (เป็นกรดอะมิโน) และ D-Manitol พบว่าสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิคือ Quisqualic acid และยังมีรายงานฤทธิ์การขับถ่ายอย่างแรงของน้ำมันในเมล็ดเล็บมือนางอีกด้วย ในประเทศจีนใช้เมล็ดเล็บนางเป็นยาถ่ายพยาธิมานานโดยผสมเป็นยาตำรับถ่ายพยาธิ ในประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดจีนก็ใช้ เช่นกัน

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.