แมงลัก

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ocimum × africanum Lour.

ชื่อวงศ์                : Lamiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ดแมงลักแก่ เก็บเมล็ดแก่สีดำเพื่อใช้เป็นยา

ลักษณะภายนอก :

คล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่นและสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นชื่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อย ๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปากและร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านก่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดอกตรงกลางจะบานก่อนและช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เมล็ดแมงลักเมื่อแช่น้ำแล้วจะพองเป็นเยื่อขาวโตและเป็นเมือก เมื่อรับประทานจะทำให้ถ่ายอุจจาระสะดวก เพราะเมือกขาวทำให้ลื่น อุจจาระไม่เกาะลำไส้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ช่วยขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบายให้ นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
  • บรรเทาอาการหวัด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น
  • แก้ท้องร่วงท้องเสีย ใบแมงลัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก สามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้
  • ใช้ลดความอ้วน เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวและเพิ่ม จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้นและยังสามารถลดอาการท้องผูกด้วย
  • บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ รักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เมล็ดแมงลักประกอบด้วยสารประเภทคาร์โบไฮเดรทหลายชนิดและสารประกอบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น D-Arabinose, L-Arabinose, Camphene, Camphor, D-Galactose, D-Galacturonic acid, D-Gucose, D-Mannose, D-Mannuronic acid, Mucilages, Myrcene, Oil, pentosans Polysaccharide, L-Rhamnose, D-Xylose เป็นต้น

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.