มังคุด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Garcinia mangostana L.

ชื่อวงศ์                : Guttiferae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกผลแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ผลกลมแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว พื้นผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เปลือกหนาแข็ง เมื่อแก่มีสีม่วงอมน้ำตาล ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แยกเป็น 4-7 แฉก ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบติดอยู่ บริเวณใต้ผิวผลมีต่อมของน้ำยางอยู่มาก เปลือกผล มีรสฝาด ยางจากผลมีสีเหลือง มีรสฝาด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ในชนบทมักใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาอาการท้องเสีย

ใช้เปลือกผลแห้งครึ่งผล (4 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มแต่น้ำ หรือใช้เปลือกผลแห้งย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใส 1/2 แก้ว รับประทานทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง

  • ชะล้างบาดแผล

ใช้เปลือกผลสดหรือแห้ง 1-2 ผล สับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้เดือด ประมาณ 15 นาที เติมเกลือประมาณ 1 ช้อนชา ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง แผลมีหนอง หรือใช้เปลือกผลฝนแต้มทารักษาแผล

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เปลือกผลมีสารแทนนิน (tannin) 8.75-10.5% มีฤทธิ์แก้อาการ ท้องเดิน นอกจากนี้ในเปลือกผลยังมีสารเคมีอีกหลายชนิด จากการทดลอง พบว่ามีสารในเปลือกมังคุด มีฤทธิ์สมานแผล และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของหนองด้วย และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.