มะนาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle

ชื่อวงศ์                : Rutaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกและผล

ลักษณะภายนอก :

ผลกลม สด ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-5 ซม. เปลือกบาง เรียบ สีเขียวเป็นมัน  มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไปที่ผิวผล  เมื่อสุกสีเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นห้องแบบรัศมีมีถุงเป็นเยื่อบาง ๆ รูปยาวเรียวขนาดเล็กจำนวนมาก ภายในมีน้ำรสเปรี้ยวบรรจุอยู่ เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด น้ำจากผลมะนาวที่โตเต็มที่  มีรสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีรสขม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เปลือกผล รสชม ช่วยขับลม น้ำมะนาวรสเปรี้ยวจัด เป็นยาขับเสมหะ เมื่อก่อนตามชนบท               เมื่อเด็กหกล้มหัวโน จะใช้น้ำมะนาวผามกับดินสอพอง โปะบริเวณหัวที่โน จะทำให้เย็นและยุบลง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • อาการไอ ระคายคอจากเสมหะ

ใช้น้ำจากผลที่โตเต็มที่  เติมเกลือเล็กน้อย  จิบบ่อย ๆ หรือ จะทำน้ำมะนาวเติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย

  • อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

ใช้เปลือกผลสด 1/2-1 ผล ฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำขณะมีอาการ หรือหลังอาหาร 3 เวลา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

น้ำจากผลมีกรด citric acid, malic acid, ascorbic acid,  ผิวมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยที่มาจากการกลั่นผิวผล ร้อยละ 0.3-0.4 ประกอบด้วยสารต่าง ๆ ได้แก่  d-limonene (42-64%), alpha-berpineol (6.81%), bergamotene ผสมกับ terpinen-4-ol (3%),  alpha-pinene (1.69%), geraniol (0.31%), linalool, terpineol, camphene, bergapten (furanocoumarin) เมล็ดมะนาว พบองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside, limonin glucoside

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.