มะคำดีควาย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Sapindus rarak DC.

ชื่อวงศ์                : Sapindaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่

ลักษณะภายนอก :

ผลแก่จะแห้ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5-2 ซม. ผิวของผลย่น เปลือกแห้งสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมี 3 พู ส่วนใหญ่จะฝ่อไป 1 หรือ 2 พู เนื้อเหนียว ใส สีน้ำตาล เมล็ดกลมสีดำ  เป็นมันเนื้อผลมีรสขมหวาน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขม แก้กาฬภายใน แก้พิษไข้ ดับพิษไข้ ลูกต้มแล้วเกิดฟอง สุมหัวเด็ก แก้หวัด แก้รังแค ใช้ซักผ้าและสระผมได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาชันตุ

ใช้ผล 4-5 ผล แกะเอาแต่เนื้อ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย ใช้น้ำทาที่ศีรษะที่เป็นชันตุวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือใช้เนื้อ 1 ผล ตีกับน้ำสะอาดจนเป็นฟอง ใช้สระผมที่เป็นชันตุวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย

  • รักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย

ใช้ผล 10-15 ผล ต้มกับน้ำพอประมาณ นำเฉพาะน้ำมาชะล้าง หรือแช่บริเวณที่เป็นแผลนาน 5 นาที ทั้งเวลาเช้าและเย็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          สารเคมีในลูกมะคำดีความ คือ Saponin, Emarginatonede, O-Methyl-Saponin เป็นต้น ส่วนสรรพคุณแก้ชันนะตุ คาดว่าเกิดจากสาร Saponin

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.