มะขามแขก

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cassia acutifolia Del.

ชื่อวงศ์                : Caesalpiniaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบแห้งและฝักแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. angustifolia มีสีเขียวอมน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปวงรี หรือรูปใบหอก กว้าง 1.0-1.5 ซม.ยาว 2.5-5.0 ซม. มีขอบใบเรียบ ปลายและโคนใบแหลม โคนใบทั้งสองไม่เท่ากัน และมีขนนุ่มปกคลุม ส่วนใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. acutifolia มีรูปร่างป้อมและสั้นกว่าชนิดแรก โดยยาวไม่เกิน 4 ซม. และมักพบใบหักมากกว่าชนิดแรก ใบมะขามแขก มีกลิ่นเหม็นเขียว รสเปรี้ยว หวาน ชุ่ม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ใบและฝักใช้เป็นยาระบายท้อง ใบไซ้ท้องมากกว่าฟัก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้แก้อาการท้องผูกใช้ ใบแห้งวันละ 3-10 กรัม (1-2 กำมือ) ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำจำนวนพอเหมาะ ดื่มก่อนนอน
  • ถ่ายพยาธิ ใบมะขามแขกหนัก 2 กรัม หรือ 2 หยิบมือ หรือใช้ฝัก 10-15 ฝัก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อกลบรสเฝื่อน รับประทานครั้งเดียว หรือ ใช้วิธีบดใบแห้ง เป็นผงชงน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขโดย ต้มรวมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู อบเชย) เพื่อแต่งรสและบรรเทาอาการไซ้ท้อง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

สารประกอบทางเคมีที่สำคัญในใบและฝักมะขามแขก คือแอนทราควิโนน (antraquinone) ซึ่งประกอบด้วยสาร sennoside A, B, C, และ D, emodin, rhein เป็นต้น มะขามแขกเป็นยาถ่ายที่มีประวัตินานเกือบ 100 ปี สารแอนทราควิโนนจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายท้องได้

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.