มะขาม

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Tamarindus indica L.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เนื้อฝักแก่ เนื้อเม็ดมะขามแก่

ลักษณะภายนอก :

ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 – 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ลำต้นและกิ่งเหนียว ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนและแตกสะเก็ดเป็นร่องเล็กๆ เปลือกต้นด้านในมีสีแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลเข้ม กระพี้สีขาว ผล เมื่อดอกร่วงแล้วก็จะติดผลเป็นฝักกลม แบนเล็กน้อย คอดเป็นข้อตามเมล็ด และมีก้าน เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ข้างในผลมีเนื้อเยื่อ แรกๆ เป็นสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่จัด ซึ่งจะหุ้มเมล็ดอยู่

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เนื้อฝักแก่ รสเปรี้ยว เป็นยาระบาย ขับเสมหะ เนื้อเมล็ดมะขามรสมัน ใช้ขับพยาธิ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

แก้ร้อน จากอากาศร้อน เบื่ออาหาร แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก เด็กเป็นตานขโมย ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 15-30 กรัม ผสมน้ำ คั้นแล้วอุ่นให้กิน แก้พิษสุรา ขับเสมหะ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 3 กรัม ผสมน้ำตาลทรายกิน  แก้ไข้ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดแช่น้ำ ผสมน้ำตาลให้มีรสหวาน ใช้ดื่มแก้กระหายช่วยลดความร้อน ใช้เป็นยาระบาย กินเนื้อหุ้มเมล็ด แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ใช้ใบต้มน้ำอาบ หลังคลอดและหลังฟื้นใช้ ทำให้สดชื่น หรือใช้อบไอน้ำ แก้หวัด คัดจมูก ขับเสมหะ แก้ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ใช้เปลือกต้นผสมเกลือ เผาในหม้อดินจนเป็นเถ้าขาว กินครั้งละ 60-120 มก. และยังใช้เถ้านี้ผสมน้ำอมบ้วนปากกลั้วคอ แก้คอเจ็บและปากเจ็บได้อีกด้วย หรืออาจใช้เนื้อหุ้มเมล็ดกินครั้งละ 15 กรัม ช่วยย่อยอาหาร  หรือ ใช้เนื้อมะขามรักษาอาการท้องผูก  สามารถทำได้ 3 วิธี คือใช้เนื้อจากฝักละลายน้ำแล้วผสมเกลือสวนเข้าทางทวาร หรือใช้เนื้อจากฝักผสมเกลือรับประทาน หรือ เอาเนื้อจากฝักผสมเกลือเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ใช้เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแดงเป็นมัน 600 มก. เทียนขาว(Cumin) อย่างละเท่า ๆ กัน ผสมน้ำตาล ต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำดี ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด กินครั้งละ 10-60 กรัม เปลือกต้น ใช้ต้มกับน้ำ (จะมีแทนนินออกมา) ใช้เป็นยาสมานฝี แผล กันอักเสบ แก้ท้องร่วงและอาเจียนและใช้แก้โรคหืด ช่วยถ่ายพยาธิตัวกลมในลำไส้ พยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้เมล็ดมะขามมาคั่ว กะเทาะเปลือกออก นำเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำเกลือจนนิ่ม แล้วรับประทานครั้งละ 20 เม็ด เครื่องดื่มชนิดหนึ่งชื่อ “เชอร์เบต” (sherbet) ซึ่งผสมโดยต้มเนื้อมะขาม 30 กรัม ในนม 1 ลิตร เติมลูกเกด 2-3 ลูก กานพลู กระวานและการบูรเล็กน้อย ใช้ดื่มแก้ไข้และอาการอักเสบต่าง ๆ เป็นต้นว่า เป็นไข้ อาหารไม่ย่อย อาการผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ท้องเสีย และใช้แก้ลมแดดได้ดี ส่วน น้ำชงจากเนื้อมะขาม เตรียมโดยแช่เนื้อมะขามในน้ำ แล้วรินออกมากิน แก้อาการเบื่ออาหาร (ประสิทธิภาพของยาชง จะเพิ่มขึ้นอีก โดยการเติมพริกไทยดำ น้ำตาล กานพลู กระวานและการบูร ช่วยเพิ่มรส) และในระยะฟื้นไข้ ก็ให้กินเนื้อหุ้มเมล็ดกับนม เนื้อหุ้มเมล็ดอุ่นให้ร้อนใช้พอกแก้บวมอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดผสมเกลือให้เป็นครีมใช้ถูนวดในโรครูห์มาติสซั่ม น้ำมะขามใช้อมบ้วนปากกลั้วคอแก้เจ็บคอ กระเพาะอาหารอักเสบ  นำมะขามเปียกไปแช่น้ำ ลอกเอาใยออก นำมะขามมาถูตัวเบาๆ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นตลอดทั้งวัน มะขามเปียกและดินสอพองผสมจนเข้ากัน นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยให้ผิวหน้าดูกระชับสดใสและสะอาดยิ่งขึ้น  มะขามเปียกผสมกับน้ำอุ่นและนมสด ใช้พอกผิว ช่วยให้ผิวหนังที่มีรอยดำคล้ำกลับมาขาวสดใส

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด เรียกมะขามเปียก มะขามที่ใช้เป็นยาใช้มะขามชนิดรสเปรี้ยว เพราะมีกรดอินทรีย์ (Organic acid) ประกอบด้วยหลายตัว เช่น กรดทาร์ทาร์ริค (Tartaric acid) กรดซิตริค (Citric acid) เป็นต้น ทำให้มีฤทธิ์ระบายลดความร้อนของร่างกาย

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.