มะเกลือ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Diospyros mollis Griff.

ชื่อวงศ์                : Ebenaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลดิบสด

ลักษณะภายนอก :

ไม้ต้น ที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 – 25 เมตร กิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป เปลือกต้นสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ หรือเป็นร่องทั่วลำต้น เปลือกในสีเหลือง กะพี้สีขาว ถ้าทิ้งไว้นานจะเปลื่ยนเป็นสีค่อนข้างดำ ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผิวของผลเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีเปลือกเป็นสีเขียว ผลแก่จัดแห้ง เปลือกเปราะและออกสีดำสนิท กลีบจุกผลมี 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่ง มีขนนุ่มทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบพับกลับ ขอบและพื้นกลีบเรียบ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ถ่ายพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนตัวกลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้ถ่ายพยาธิ โดยใช้ผลสดโตเต็มที่และเขียวจัด จำนวนผลเท่าอายุแต่ไม่เกิน 25 ผล (คนไข้อายุ 40 ปี ใช้เพียง 25 ผล) ตำหรือคั้นเอาน้ำใส่กะทิ ช่วยกลบรสเฝื่อนแล้ว รับประทานขณะท้องว่างทันทีห้ามตั้งทิ้งเอาไว้ เพราะจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งจะมีพิษ ถ้า 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถ่ายใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำดื่มตามลงไป ใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าว รับประทานแก้อาเจียน แก้ลม หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย รากหรือเปลือก ลำต้นใช้ต้มกับน้ำอาบช่วยรักษาโรคดีซ่าน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผลดิบจะมี diospyrol diglucoside ชื่อว่า tetrahydroxy dimethylbinapthalene เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ไม่ดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ พยาธิกินสารนี้แล้วทำให้พยาธิตายได้ สารนี้เมื่อถูก oxidize ในสารละลายที่เป็นด่าง จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบสีดำ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของสาร diospyrol เห็นว่ามีส่วนคล้ายกับสาร alpha และ beta napthol ซึ่งมีพิษต่อประสาทตา ดังนั้นการใช้มะเกลือจึงควรระมัดระวังอย่าใช้ผิดวิธีการที่แนะนำ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.