ไพล

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Zingiber cassumunar Roxb.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่จัด

ลักษณะภายนอก :

เหง้ามีเปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว เหง้าสดฉ่ำน้ำ รสฝาด ขื่น เอียน ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ เหง้าไพลแก่สด และแห้ง  มีรสเผ็ดเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

สรรพคุณ แก้ฟกบวม เคล็ดยอก ขับลม ท้องเดินและช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี นิยมใช้เป็นยา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง

ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ดขัดยอก หรือใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อย และบวมฟกช้ำ เช้า-เย็นจนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพลหนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่ผงกานพลูประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใสการบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ในภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูร ให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของนายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา)

ครีมที่มีน้ำมันไพล 14% ใช้ทาและถูเบาๆบริเวณที่มีอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก วันละ 2-3 ครั้ง

รักษาโรคผิวหนังผื่นคัน เหง้าบดทำเป็นผงผสมน้ำหรือเหง้าสดล้างให้สะอาด ฝนน้ำทา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          เหง้าไพลมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) 0.8% ปัจจุบันมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทราบสูตรโคตรสร้างของสารประกอบในไพลกว่า 20 ชนิด การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่าสารประกอบ Terpene หลายชนิดจากไพลมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ (anti-inflamatory) และมีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ยาครีมไพลมีฤทธิ์ในการลดอาการบวมในสัตว์ทดลองเช่นกัน

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.