เพกา

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Oroxylum indicum (L.) Kurz

ชื่อวงศ์                : Bignoniaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เปลือกต้น รสฝาด ขม เย็น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ แก้บิด แก้อาการจุกเสียด แก้ไข้รากสาด แก้ฝี รักษามะเร็งเพลิง  ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน ช่วยเจริญอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อาการบวม ฟกช้ำ และ อักเสบ หรือนำเปลือกเพกาฝนทารอบๆฝีแก้ปวดฝี
  • เปลือกต้นตำผสมกับสุรา ใช้เป็นยากวาดประสะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง
  • แก้ละอองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้ ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา
  • ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม (ซึ่งได้จากรังมดแดง) หรือเกลือสินเธาว์
  • รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด
  • รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยน รากหญ้าคา รวม 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละ 2 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหาร เช้าและเย็น ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ
  • ขับเสมหะโดยใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5 – 3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อน ๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • แก้โรคไส้เลื่อน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตาย หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด นำมาทาลูกอัณฑะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เพกาประกอบไปด้วยสารเคมี เช่น methyl oroxylopterocarpan, baicalein, chrysin, 5,7-dihydroxy-6-methylflavone, oroxylin A, scutellarein 7-rutinoside, galangin, lapachol มีฤทธิ์ที่ใช้แก้ไอและขับเสมหะ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.