ผักบุ้งทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.

ชื่อวงศ์                : Convolvulaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบ รากสด ทั้งต้น เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

ไม้เลื้อยล้มลุก เลื้อยไปตามผิวทรายหรือดิน ชอบขึ้นในพื้นที่ใกล้ทะเล ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ใบ เดี่ยว แผ่นใบกว้าง โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลึก ดอก ช่อ มี 4-6 ดอก กลีบดอกสีชมพูอมม่วง กลีบดอกติดกันปลายบานคล้ายปากแตร ดอกบานตอนเช้า บ่ายๆ จะหุบเหี่ยว ผล เป็นผลแห้งแตกได้

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ถอนพิษลมเพลมพัด (อาการบวมเปลี่ยนที่เป็นตามอวัยวะทั่วไป) ทำเป็นยาต้มอาบแก้คันตามผิวหนัง มีการบันทึกว่า ยางมีพิษ รับประทานแล้วเมา คลื่นไส้วิงเวียน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • นำใบมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะแต่น้ำ ใช้ทาบริเวณข้อ ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบ หรือนำใบต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อลดอาการแน่นท้อง และจุกเสียด
  • ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยล้างกระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • เมล็ดทุบให้แตก ต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการปวดท้องและกล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • เถาหรือรากใช้ต้มกับน้ำ ใช้อาบเพื่อแก้อาหารคันตามผิวหนัง แก้ผดผื่น หรือนำลำต้นมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาแก้พิษแมงกะพรุน
  • ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่าแก้พิษแมงกะพรุนไฟ แก้แพ้พิษต่างๆใช้รากสด 1 ราก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชูฝนให้ข้นๆ อาจใช้เหล้าโรงหรือแอลกอฮอล์ผสมด้วยจะได้ผลดี ใช้ทาบ่อยๆ หรือใช้ใบผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชู หรือเหล้าขาวแล้วนำมาประคบผิวหนังบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนและห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดแสบปวดร้อนจากพิษจะคลายลง
  • แก้อาการปวดท้อง ลดอาการแน่นท้อง ช่วยไล่ลมออกจากกระเพาะและลำไส้ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน แก้อาการเป็นตะคริว นำเมล็ดที่แก่จัดสัก 1 กำมือ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด เวลาใช้นำมาชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่ม
  • แก้ฝีหนองภายนอกระบุให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ หากเป็นการใช้เพื่อรักษาภายในถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในผักบุ้งทะเลมีน้ำมันหอมระเหย (Essential oil), มีกรดอินทรีย์ เช่น malic acid, citric acid, tartaric acid, fumaric acid, succinic acid, และ สารอื่นๆ เช่น ergometrine, ergotamine, eugenol, inorganic element มีฤทธิ์แก้แพ้ จากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านฮีสตามีน (Anti-histamine) และยับยั้งพิษของแมงกะพรุน

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.