บัวบก

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Centella asiatica (L.) Urb.

ชื่อวงศ์                : Apiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ต้นสดและใบสด

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้ล้มลุก อยู่ในจำพวกผัก ประเภทเลื้อย มีลำต้นเลื้อยไปตามดินที่ชื้นแฉะ เรียกว่า ไหล มีรากงอกออกตามข้อของลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบงอกเป็นกระจุกออกจากข้อ ข้อละ 2-10 ใบ ลักษณะใบรูปไต รูปร่างกลม ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน ขอบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวมีขนเล็กน้อย ก้านใบสีเขียวยาว

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

กลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน ชนิดแคปซูล (รพ.), ชนิดชง(รพ.) ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2 – 4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • รักษาแมลงกัดต่อย และรักษาแผล ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้ใบขยี้ทาแก้แมลงกัดต่อย หรือใช้ส่วนใบสด พอกที่แผลสด วันละ 2 ครั้ง ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ครีมใบบัวบกทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทาครีมที่มีสารสกัดจากบัวบกสดร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก  ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1 – 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากใช้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ ควรเก็บครีมใบบัวบกในที่เย็น อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • แก้อาการปัสสาวะติดขัด ด้วยการใช้ใบบัวบกประมาณ 50 กรัม นำมาตำแล้วพอกบริเวณสะดือ เมื่อถ่ายปัสสาวะคล่องดีแล้วค่อยเอาออก
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบนำมาล้างให้สะอาด ตำพอกแผลสด
  • แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบบัวบกมาทุบให้แหลกแล้วนำมาโปะบริเวณที่ฟกช้ำ หรือจะใช้ใบบัวบกประมาณ 40 กรัม ต้มกับเหล้าแดงประมาณ 250 cc. ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วนำมาดื่ม

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

สารสำคัญที่สกัดได้จากบัวบกคือ madecassicacid, asiatic acid, asiaticoside, madecassoside เป็นต้น สารเหล่านี้มีฤทธ์ในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดหนอง ฆ่าเชื้อราและลดอาการอักเสบได้

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.