ทองพันชั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz

ชื่อวงศ์                : Acanthaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบ ราก ทั้งต้น (สดหรือแห้ง)

ลักษณะภายนอก :

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรี โคนและปลายใบสอบเรียว ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย และแต่ละคู่ออกสลับทิศทางกัน เนื้อใบบางและเกลี้ยง แผ่นใบมีสีเขียวเป็นมัน ผล เป็นฝักที่มีขนสั้นๆ คลุม ภายในมี 4 เมล็ด พอแห้งแตกออกได้

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ใบสดเบื่อเมา เป็นยาเย็นดับพิษไข้ รากป่นละเอียด แช่เหล้า 7 วัน ทาแก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ทาแก้กลากเกลื้อนหรือโรคผิวหนังผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบสดผสมน้ำมันถ่านหินหรือแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจใช้รากบดเป็นผงแช่แอลกอฮอลล์ 1 อาทิตย์ เอามาทาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบหรือรากสด ตำกับน้ำปูนใสผสมพริกไทย พอกแก้โรคผิวหนังเรื้อรัง กลาก และโรคผิวหนังอักเสบ หรือใช้ใบ (สดหรือแห้ง) หรือราก (สดหรือแห้ง) ตำให้ละเอียด แช่เหล้าพอท่วมตั้งไว้ 7 วัน นำน้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ หรือทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วให้ทาต่ออีก 7 วัน เหตุที่ต้องแช่ไว้นาน 7 วัน เป็นเพราะน้ำยาที่ยังแช่ไม่ครบกำหนดจะมีฤทธิ์กัดผิวหนัง ถ้านำไปทาจะทำให้ผิวหนังแสบและคันมากขึ้น น้ำยาจากรากแห้งกัดผิวมากกว่าใบแห้ง
  • ส่วนน้ำยาจากใบสดไม่กัดผิว  ใช้รับประทานเป็นยาภายใน รักษาโรคมะเร็ง และวัณโรคระยะเริ่มแรก
  • ใช้ทั้งต้น สด จำนวน 30 กรัม ต้มกับน้ำ จำนวนท่วมใบยา ต้มดื่มต่างน้ำ
  • ใช้ก้านและใบสด 30 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม) ผสมน้ำตาลกรวดต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดระยะเริ่มแรก
  • ช่วยขับปัสสาวะ ให้ใช้ใบสด คั่วให้แห้งนำมาชงเป็นชาใช้ดื่มจะช่วยขับปัสสาวะได้

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ไม่พบรายงานการศึกษาทางเคมีและเภสัชวิทยา ส่วนกองวิจัยทางการแพย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาพิษเฉียบพลันแล้วพบว่าไม่มีพิษ

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.