ตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cymbopogon citratus (DC.) Stapf

ชื่อวงศ์                : Poaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าและลำต้นแก่

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง ตามปล้องมักมีไขปกคุลม เหง้า มีข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล หรือสีขาวปนม่วง รสปร่า  มีกลิ่นหอมเฉพาะ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหอมปร่ากลิ่นหอม บำรุงไฟธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร แก้คาว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

รักษาอาการขัดเบา

เหง้าและลำต้นสด   หรือแห้ง  1  กำมือ  หรือน้ำหนักสด  40-60  กรัม  แห้ง  20-30  กรัม  ทุบต้มกับน้ำพอควร  แบ่งดื่ม  3  ครั้ง ๆ ละ  1  ถ้วยชา (75  มิลิลิตร) ก่อนอาหาร  หรือจะหั่นตะไคร้  คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอเหลือง  ชงด้วยน้ำเดือด  ปิดฝาทิ้งไว้  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ  1  ถ้วยชา  ก่อนอาหาร

รักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด

ใช้เหง้าและลำต้นสด  1  กำมือ  น้ำหนัก  40-60  กรัม  ทุบพอแตก  ต้มกับน้ำ  2  ถ้วยแก้ว  เดือด  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ  ครั้งละ  1/2  แก้ว  วันละ  3  ครั้งหลังอาหาร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบและลำต้นประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.2-0.4% ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ Citral (65-85%), Myrcene, Citronellal, Geraniol, Menthol, Citxonellol, Eugenol, Inalool เป็นต้น น้ำมันตะไคร้มีฤทธิ์ขับลม ลดการบีบตัวของลำไส้และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดด้วย

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.