ข่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์                : Moraceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกต้นสด

ลักษณะภายนอก :

เปลือกสีเทาอมเขียว เปลือกในสีขาวหนา ผิวเรียบบาง มักมีขนอยู่โดยทั่วไป มียางขาวข้น เปลือกต้น กระพี้ มีรสเมาฝาดขม เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น เปลือกต้นสด มีรสเมาเบื่อ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเมาเบื่อ ใช้ กิ่งสด ขนาดเล็กนำมาทุบใช้สีฟัน ฆ่าเชื้อในปาก ทำให้เหงือกและฟันทน เปลือกต้น นำมาต้มใส่เกลือให้เค็มใช้รักษาโรครำมะนาด แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง คุมธาตุ เปลือกใช้มวนสูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้นต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล สมานแผล และโรคผิวหนัง ทั้งต้น ต้มใส่เกลือ แก้ฟันผุ กระพี้ แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคน เยื่อหุ้มกระพี้ ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก

ตำรายานครราชสีมา: ใช้ เปลือกต้น แก้รำมะนาด โดยนำเปลือกผสมกับเกลือทะเลอย่างละเท่าๆ กัน ต้มให้เกลือละลาย อมเช้า-เย็น หลังอาหารและก่อนนอน

ตำราเภสัชกรรมล้านนา: ใช้ ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ตำรายาแผนไทย: ใช้กิ่งสดยาวประมาณ 5-6 นิ้ว หั่น ต้มใส่เกลือเคี่ยวให้งวดเหลือน้ำครึ่งหนึ่ง อมเช้า เย็น ทำให้ฟันทน และไม่ปวดฟัน

กิ่งข่อยขนาดเล็กทุบให้นิ่มนำมาแปรงฟันให้สะอาด ฟันแข็งแรงไม่ผุ

เปลือกต้นประมาณ  1  ฝ่ามือ  สับ  ต้มกับน้ำพอควร  เติมเกลือให้มีรสเค็ม  ต้มนาน  10-15  นาที  อมน้ำขณะอุ่น ๆ วันละ  3-4  ครั้ง ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.