ข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Alpinia galanga (L.) Willd.

ชื่อวงศ์                : Zingeberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่ สดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

เหง้าใต้ดินสีน้ำตาลอมแสด มีข้อปล้องสั้น เห็นข้อหรือปล้องได้ชัดเจน เนื้อในสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อนๆ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เหง้าแก่ รสเผ็ดปร่า ขับลม แก้บวม ฟกช้ำ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง

ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร

  • รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  • รักษาโรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย หรือ นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) หรืออีกหนึ่งวิธี
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม หรือใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม
  • รักษากลาก เกลื้อน

ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย

ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด

ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี

ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง

ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เหง้าข่ามีน้ำหอมระเหยประมาณ 0.04% ในน้ำมันหอม ระเหยประกอบด้วย Methyl Cinnamate 48%, Cineol 20-30%, การบูร และ α–pinene น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับลมต้านเชื้อแบคทีเรียและสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเหง้าข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ข่ามีความปลอดภัยสูง ไม่พบพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง และไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.