ขิง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Zingiber officinale Roscoe

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่สด

ลักษณะภายนอก :

เหง้ามีลักษณะเป็นข้อๆ แบนในแนวนอน แตกแขนง รูปร่างเหมือนฝ่ามือประกอบด้วยแง่งเล็กๆ เปรียบเสมือนนิ้ว ขนาดยาว 3-16 เซนติเมตร กว้าง 3-4 เซนติเมตร และหนา มากกว่า 2 เซนติเมตร ผิวนอกสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน มีแนวย่นตามยาว ภายในมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล เป็นเสี้ยน มีเส้นใย (fiber) มาก กลิ่นหอมเฉพาะ ผงสีเหลืองอ่อน รสหวาน เผ็ดจัด ร้อน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขิง(แห้ง) 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัมหรือ ยาผงที่มีเหง้าขิง (แห้ง) ซองละ 1 กรัม มีขนาดใช้ดังนี้

  1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง รับประทาน 2-4 กรัม ต่อวัน
  2. ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ รับประทานวันละ 1-2 กรัม ก่อนเดินทาง 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ
  3. ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด รับประทานครั้งละ 1 กรัม ก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2559)

กรณีใช้เหง้าแก่สด:

  1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใช้ขิงแก่สดขนาด 2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ล้างให้สะอาด  ทุบให้แตก  ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ  1/3  ถ้วยแก้ว   วันละ  3  ครั้ง  หลังอาหาร
  2. บรรเทาอาการไอระคายคอจากเสมหะ

– เหง้าขิงแก่  2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ฝนกับน้ำมะนาวกวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร

– เหง้าขิงแก่  2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ตำ  เติมน้ำ  คั้นเอาแต่น้ำแทรกเกลือ  ใช้กวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในเหง้าแก่มีน้ำหอมระเหยประมาณ 1-3% ปริมาณของน้ำมันหอมระเหยเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงเวลาเก็บ น้ำมันหอมระเหยมีสารเคมีหลายชนิดเช่น Zingiberine, Zingiberol, Citral, Zingirol, 6-Shogoal, 6-Gingerol, Borneol, Menthol เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม ขับน้ำดี ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.