กานพลู

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry.

ชื่อวงศ์                : Myrtaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ดอกตูม

ลักษณะภายนอก :

ดอกตูม  ความยาว 1-2 เซนติเมตร  สีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ   ส่วนล่างของดอก (hypantium)  มีลักษณะแข็ง  ทรงกระบอก  ที่มีความแบนทั้ง 4 ด้าน  มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 อัน  รูปสามเหลี่ยม  อยู่สลับหว่างกับกลีบดอก 4 กลีบ  ลักษณะเป็นแผ่นบางรวมอยู่ตรงกลาง  ข้างในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก  และเกสรตัวเมีย 1 อัน  ผงยามีสีน้ำตาลเข้ม  กลิ่นเฉพาะ หอมแรง  เป็นยาร้อน มีรสเผ็ดร้อน ฝาด  ทำให้ลิ้นชา

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ช่วยขับลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. 1. แก้อาการ ท้องอืดเฟ้อ ขับลม

ในผู้ใหญ่-  ดอกตูม 4-6 ดอกใช้ทุบให้ช้ำ  ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ดอกแห้ง  5-8  ดอก  ต้มน้ำพอเดือด  ดื่มแต่น้ำ  ถ้าบดเป็นผง  0.12-0.6  กรัม  ชงน้ำสุกดื่ม

เด็กอ่อน-  ใช้ดอกแห้ง  1  ดอก  ทุบแช่ไว้ในน้ำเดือด 1 กระติก (ความจุราวครึ่งลิตร)  สำหรับชงนมใส่ขวดให้เด็กดูด แก้ท้องอืด

  1. 2. แก้ปวดฟัน

ใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้  จุ่มน้ำมันจิ้มลงในรูที่ปวดฟัน  และใช้แก้โรครำมะนาด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว  แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด  หรือใช้ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้ม หรืออุดที่ปวดฟัน

  1. 3. ระงับกลิ่นปาก

ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก  อมไว้ในปาก  จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นลง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ดอกตูมของกานพลูประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 14-20% ในน้ำมันหอมระเหยประกอยด้วยสารหลายชนิดที่สำคัญคือ Eugenol มีปริมาณ 70-80% ของน้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้ยังมี β-Caryophyllene, Acetyl Eugenol, Methyl, Amyl Ketone, Charicol, Eugenol acetate เป็นต้น สาร Eugenol มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องลดลง ช่วยขับ น้ำดี ลดอาการจุกเสียด และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.