กระวานไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่ที่มีอายุ 4-5 ปี, เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

ผลกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู แห้งและแข็ง ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปยอด มีสีขาวนวล ขนาดผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร หัวท้ายผลมีจุก แบ่งเป็นพู 3 พู ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด เมล็ดแก่มีสีน้ำตาลไหม้ มีเยื่อบางๆ กั้นทั้งผล และเมล็ด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลิ่นคล้ายการบูร รสเผ็ด เย็น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม เป็นยาขับลมและเสมหะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ผลกระวาน ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด

ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว

ผลกระวาน ยังใช้ผสมยาถ่าย เช่น มะขามแขกเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil)  5-9%  ซึ่งมีองค์ประกอบ  camphor, myrcene, limonene, linalool, cineol, bornyl  acetate, 1,8-cineol, beta-pinene, alpha-pinene, p-cymene, car-3-ene, terpinen-4-ol, alpha-terpineol, thujone, (E)-nuciferol, alpha-santalol, farnesol isomer, alpha-bisabolol, cinnamaldehyde, (Z)-alpha-trans- bergamotol, safrole, cis-laceol, alpha-curcumene

ที่มา :

ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชเวชกรรม โดย กองการประกอบโรคศิลปะสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Copyright © 2017. All rights reserved.