สมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ocimum tenuiflorum L.

ชื่อวงศ์                : Labiatae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบที่สมบูรณ์เต็มที่ นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว

ลักษณะภายนอก :

ใบและลำต้นมีสีเขียวอมม่วงแดง ใบทั้งสองด้านมีขนมากโดยเฉพาะส่วนยอด เนื้อใบบาง ใบรูปร่างรีหรือรีขอบขนาน กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4.5 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบอาจแหลมหรือมน ขอบใบค่อนข้างหยัก ใบและยอดรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน ใช้ใบและยอดกะเพรา ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง ทำให้เรอ แก้ท้องร่วง แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง แก้อาการปวดท้องในเด็กทารก ใช้ใบสดตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำนำมาผสมกับน้ำยามหาหิงคุ์ แล้วใช้ทาบริเวณ รอบๆ สะดือ และทาที่ฝ่าเท้าแก้อาการปวดท้องของเด็กได้ ใช้เป็นยาเพิ่มน้ำนมสตรีหลังคลอด ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. ลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ปวดท้อง ใช้ใบสด 1 กำมือ  (น้ำหนักสดประมาณ  25 กรัม  หรือใบแห้ง  4  กรัม  ต้มให้เดือด เอาแต่น้ำดื่ม หรือจะใช้ใบกะเพราะแห้ง ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผงให้ชงกับน้ำรับประทาน ในเด็กอ่อนใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา
  2. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ใบและยอดสด 1  กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.35% ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ Camphor, Cined, Eugenol, Limonene, Pinene, Sabinene, Terpineol, Ocimol, Linalool, และกรดอินทรีย์หลายชนิด การทดลอง พบว่าน้ำมันหอมระเหยมีฤทธ์ขับลม ลดการบีบตัวของลำไส้ และสาร Engenol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Hibiscus sabdariffa L.

ชื่อวงศ์                : Malvaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอก

ลักษณะภายนอก :

กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก คล้ายเฟือง ประมาณ 8-12 แฉก แผ่ขยายติดกัน หักง่าย มีสีแดงอมม่วง หนา เมื่อสดฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยว

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว แก้อาการขัดเบา แก้เสมหะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ ขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ แก้กระหายน้ำ รักษาไตพิการ ขับเมือกมันให้ลงสู่คูทวารหนัก ละลายไขมันในเลือด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ขับปัสสาวะ ใช้สมุนไพรแห้ง บดเป็นผง 3 กรัม (หรือ 1 ช้อนชา) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงมีสารชื่อแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) จึงทำให้มีสีม่วงแดง และประกอบไปด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าใต้ดินและราก

ลักษณะภายนอก :

เหง้าสั้น (เรียก “กระโปกกระชาย”) มีรากสด แตกออกจากเหง้าเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว่าส่วนหัวและท้าย รูปทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม (เรียก “นมกระชาย”) กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีรสเผ็ดร้อน ขม กลิ่นหอมฉุน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน ขม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาตะ แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดเบ่ง รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น ราก (นมกระชาย) แก้กามตายด้าน ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงความกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า “โสมไทย” หัวและราก ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง แดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหวิว ขับปัสสาวะ หัวใช้เผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใส เป็นยาแก้บิด แก้โรคบังเกิดในปาก แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง

ใช้เหง้า หรือรากประมาณครึ่งกำมือ(น้ำหนักสด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ทุบพอแตกต้มกับน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ หรือปรุงอาหารรับประทาน

  1. แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย)

ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เหง้ากระชายมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.08% ในน้ำมันหอมระเหยมีสารหลายชนิด เช่น 1,5-Cineol, Boesenbergin A, dl-Pinostrobin Corphor เป็นต้น และยังมีสาร Flavonoid และ Chromene ด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัวหรือเหง้าแก่สด ในช่วงฤดูแล้ง

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นเป็นเหง้าสดใต้ดิน มีสีเหลืองนวล (เหลืองซีดๆ) เนื้อภายในมีสีเทาปนเหลืองอ่อนๆ มีรสขม ขื่น ปร่า  เผ็ดเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขมและขื่นเล็กน้อย บำรุงน้ำนมสตรีให้บริบูรณ์ ลดอาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ขับลม  แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม  ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด แก้ไอ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ เหง้าหมกไฟ ฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิด ปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียดและบำรุงน้ำนม ใช้หัวกะทือรวมกับหัวไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำรับประทาน แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้พิษเสมหะ แก้ปวดมวน แก้แน่น ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น แต่รู้สึกร้อนภายใน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. แก้ท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง

ใช้เหง้าสดขนาด  20  กรัม  ย่างไฟพอสุก  ตำ  เติมน้ำปูนใส  ประมาณ  1/2  แก้ว  (110 มิลลิลิตร)  ดื่มแต่น้ำ  ขณะที่มีอาการ

  1. แก้บิด (ปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)

ใช้เหง้า หรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น Methyl-gingerol, Zineronem Zerumbone, Zerumbone oxide, Citral เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Allium sativum L.

ชื่อวงศ์                : Alliaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัวใต้ดิน เก็บในช่วงที่มีหัวใต้ดินแก่จัดอายุ 100 วันขึ้นไป

ลักษณะภายนอก :

หัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น มีเยื่อหุ้มสีขาวหนา แต่ละหัวประกอบด้วยหลายกลีบรวมกัน มีประมาณ 6-10 กลีบ แต่ละกลีบรูปรี ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีใบแบบ scale leaf หุ้ม เป็นลักษณะเยื่อบางสีขาวหรือสีขาวอมม่วง หุ้มอยู่ 2-3 ชั้น ซึ่งแยกออกจากส่วนของเนื้อได้ง่าย เนื้อในหัวมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ กลิ่นแรง ฉุน รสเผ็ดร้อน มีน้ำเหนียวเป็นยางอยู่ในหัว กลีบกระเทียมที่ปอกเปลือกหุ้มออก และคั่วแล้วสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุน หอม รสเผ็ดร้อน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการ  อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด แก้ปอดพิการ  แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด  บำรุงธาตุ  กระจายโลหิต  ขับปัสสาวะ แก้บวมพุพอง  ขับพยาธิ  แก้ตาปลา  แก้ตาแดง น้ำตาไหล  ตาฟาง รักษาโรคลักปิดลักเปิด  รักษามะเร็งคุด   รักษาริดสีดวง แก้ไอ  คุมกำเนิด แก้สะอึก  บำบัดโรคในอก แก้พรรดึก รักษาฟันเป็นรำมะนาด  แก้หูอื้อ แก้อัมพาต  ลมเข้าข้อ  แก้อาการชักกระตุกของเด็ก พอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา รักษาวัณโรค  แก้โรคประสาท แก้หืด แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงสุขภาพทางกามคุณ  ขับโลหิตระดู  บำรุงเส้นประสาท   แก้ไข้   แก้ฟกช้ำ   แก้ปวดกระบอกตา แก้โรคในปาก แก้หวัดคัดจมูก   แก้ไข้เพื่อเสมหะ ทำให้ผมเงางาม  บำรุงเส้นผมให้ดกดำ ใช้ภายนอก รักษาแผลเรื้อรัง รักษากลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

กระเทียมสด 2-5 กรัมต่อวัน กระเทียมแห้ง 0.4-1.2 กรัมต่อวัน น้ำมันกระเทียม 2-5 มิลลิกรัมต่อวัน สารสกัด 300-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือรูปแบบยาอื่นๆ ที่มีสาร alliin 4-12 มิลลิกรัมหรือสาร allicin 2-5 มิลลิกรัม

ขนาดและวิธีใช้สำหรับอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด:

ใช้กระเทียม  5-10  กลีบ ซอยละเอียด  รับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร

ขนาดและวิธีใช้สำหรับรักษากลากเกลื้อน:

ฝานกระเทียมถูบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น  หรือตำแล้วขยี้ทาบริเวณที่เป็น  วันละ 2 ครั้ง ก่อนจะทายาใช้ไม้บาง ๆ เล็ก ๆ ที่ได้ฆ่าเชื้อโรคแล้ว (โดยการแช่ในแอลกอฮอล์ 70%  หรือต้มในน้ำเดือด 10-15 นาที) ขูดบริเวณที่เป็น ให้ผิวหนังแดง ๆ  ก่อนทา เพื่อให้ตัวยาซึมลงไปได้ดีขึ้น เมื่อหายแล้วให้ทายาต่ออีก 7-10 วัน

ขนาดและวิธีใช้สำหรับแก้ไอ:

ตำรายาไทยให้ใช้กระเทียม และขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียด ละลายน้ำอ้อยสด คั้นเอาน้ำจิบแก้ไอ กัดเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ตำรายาไทยบางตำรับให้คั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิดหรือกวาดคอ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

กระเทียมสดมีน้ำมัน (Garlic oil) อยู่ประมาณร้อยละ 0.1-0.36 (น้ำมันกระเทียมได้จากการนำกระเทียมสดมากลั่นด้วยไอน้ำ) ประกอบด้วยอัลลิซิน (Allicin) อัลลิลโพรพิลไดซัลไฟต์ (Allylpropyl disulfide) และไดอัลลิล ไตรซัลไฟล์ (Diallyl trisulfide) เป็นสารหลัก นอกจากนี้ยังมีสารประกอบของกำมะถันและสารอีกหลายชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่ที่มีอายุ 4-5 ปี, เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

ผลกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู แห้งและแข็ง ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปยอด มีสีขาวนวล ขนาดผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร หัวท้ายผลมีจุก แบ่งเป็นพู 3 พู ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด เมล็ดแก่มีสีน้ำตาลไหม้ มีเยื่อบางๆ กั้นทั้งผล และเมล็ด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลิ่นคล้ายการบูร รสเผ็ด เย็น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ผลแก่ รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม และแก้แน่นจุกเสียด มีฤทธิ์ขับลม และบำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ บำรุงกำลัง ขับโลหิต  แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ  แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ  แก้ลมในลำไส้ เจริญอาหาร  รักษาโรครำมะนาด  แก้ลมสันนิบาต  แก้สะอึก แก้อัมพาตรักษาอาการเบื่ออาหาร  คลื่นไส้  อาเจียน เมล็ด  แก้ธาตุพิการ  อุจจาระพิการ  บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ขับลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ผลกระวาน ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด

ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว

ผลกระวาน ยังใช้ผสมยาถ่าย เช่น มะขามแขกเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (essential oil)  5-9%  ซึ่งมีองค์ประกอบ  camphor, myrcene, limonene, linalool, cineol, bornyl  acetate, 1,8-cineol, beta-pinene, alpha-pinene, p-cymene, car-3-ene, terpinen-4-ol, alpha-terpineol, thujone, (E)-nuciferol, alpha-santalol, farnesol isomer, alpha-bisabolol, cinnamaldehyde, (Z)-alpha-trans- bergamotol, safrole, cis-laceol, alpha-curcumene

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry.

ชื่อวงศ์                : Myrtaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ดอกตูม

ลักษณะภายนอก :

ดอกตูม  ความยาว 1-2 เซนติเมตร  สีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ   ส่วนล่างของดอก (hypantium)  มีลักษณะแข็ง  ทรงกระบอก  ที่มีความแบนทั้ง 4 ด้าน  มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 อัน  รูปสามเหลี่ยม  อยู่สลับหว่างกับกลีบดอก 4 กลีบ  ลักษณะเป็นแผ่นบางรวมอยู่ตรงกลาง  ข้างในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก  และเกสรตัวเมีย 1 อัน  ผงยามีสีน้ำตาลเข้ม  กลิ่นเฉพาะ หอมแรง  เป็นยาร้อน มีรสเผ็ดร้อน ฝาด  ทำให้ลิ้นชา

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม กระจายเสมหะ แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก แก้หืด เป็นยาทำให้ร้อนเมื่อถูกผิวหนังทำให้ชา เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้ปวดท้อง มวนในลำไส้ แก้ลม แก้เหน็บชา แก้พิษโลหิต พิษน้ำเหลือง ขับน้ำคาวปลา ทำอุจจาระให้ปกติ แก้ธาตุทั้ง 4 พิการ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ขับผายลม กดลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ แก้สะอึก แก้ซางต่างๆ ขับระดู น้ำมันกานพลู (Clove oil) เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน โดยใช้สำสีชุบนำมาอุดที่ฟัน ระงับการกระตุก ตะคริว ขับผายลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ผสมยากลั้วคอ แต่งกลิ่นอาหาร แต่กลิ่นสบู่ ยาสีฟัน ดับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้า ไล่ยุง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. 1. แก้อาการ ท้องอืดเฟ้อ ขับลม

ในผู้ใหญ่-  ดอกตูม 4-6 ดอกใช้ทุบให้ช้ำ  ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ดอกแห้ง  5-8  ดอก  ต้มน้ำพอเดือด  ดื่มแต่น้ำ  ถ้าบดเป็นผง  0.12-0.6  กรัม  ชงน้ำสุกดื่ม

เด็กอ่อน-  ใช้ดอกแห้ง  1  ดอก  ทุบแช่ไว้ในน้ำเดือด 1 กระติก (ความจุราวครึ่งลิตร)  สำหรับชงนมใส่ขวดให้เด็กดูด แก้ท้องอืด

  1. 2. แก้ปวดฟัน

ใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้  จุ่มน้ำมันจิ้มลงในรูที่ปวดฟัน  และใช้แก้โรครำมะนาด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว  แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด  หรือใช้ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้ม หรืออุดที่ปวดฟัน

  1. 3. ระงับกลิ่นปาก

ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก  อมไว้ในปาก  จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นลง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ดอกตูมของกานพลูประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 14-20% ในน้ำมันหอมระเหยประกอยด้วยสารหลายชนิดที่สำคัญคือ Eugenol มีปริมาณ 70-80% ของน้ำมันหอมระเหย นอกจากนี้ยังมี β-Caryophyllene, Acetyl Eugenol, Methyl, Amyl Ketone, Charicol, Eugenol acetate เป็นต้น สาร Eugenol มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องลดลง ช่วยขับ น้ำดี ลดอาการจุกเสียด และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Musa sapientum L.

ชื่อวงศ์                : Musaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลกล้วยดิบหรือผลห่าม

ลักษณะภายนอก :

ผลดิบ เนื้อสีขาว เมื่อหั่น ฝานตากแดด  ให้แห้ง  แล้วบดเป็นผง

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด ใช้ป้องกัน บำบัด โรคแผลในกระเพาะอาหาร  โดยจะไปกระตุ้นให้เซลล์ในเยื่อบุกระเพาะหลั่งสาร mucin ออกมาช่วยเคลือบกระเพาะ ที่เปลือกและเนื้อมี serotonin  ช่วยยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ผลดิบยังใช้รักษาอาการท้องเสีย บิดมูกเลือด  การที่กล้วยสามารถแก้อาการท้องเสียได้  เพราะมีสารแทนนิน ผงกล้วยดิบทั้งเปลือกใช้โรยรักษาแผลเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย แผลติดเชื้อต่างๆ เปลือกผลดิบ รสฝาด สมานแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ผงผลกล้วยห่าม  3-4  ช้อนชา  หรือ  5-7  กรัม  ผสมน้ำ  หรือน้ำผึ้ง  1-2  ช้อนโต๊ะ  ดื่มวันละ  4  ครั้ง  ก่อนอาหารและก่อนนอน หากรับประทานกล้วยดิบแล้ว  ถ้ามีอาการท้องอืดเฟ้อ  แก้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

กล้วยดิบประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิด คือ Tannin, Serotonin, Norepinephrine, Dopamine, และ Catecholamine สารเหล่านี้อยู่ในเนื้อและเปลือกของกล้ว สำหรับกล้วยสุกมี Pectin, Essential oil, Norepinephrine, และกรดอินทรีย์ หลายชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Murraya paniculata (L.) Jack.

ชื่อวงศ์                : Rutaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

ดอกเป็นช่อใหญ่ ช่อสั้นออกตามปลายกิ่งหรือยอด ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 5-10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลรูปไข่ รีปลายทู่ มีสีส้ม ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

แก้จุดเสียด แน่นท้อง ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการไอ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ไขข้ออักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รากและใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม แต่หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม
  • ใช้เป็นยารักษาภายใน เพื่อแก้อาการท้องเสีย แก้บิด และขับพยาธิ ให้ใช้ก้านและใบสดประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะนำมาดองกับเหล้าแล้วใช้ดื่มแต่เหล้าครั้งละ 1 ถ้วยตะไลก็ได้
  • ใช้เป็นยาภายนอก ให้ใช้ก้านและใบสดนำมาตำแล้วพอกหรือจะคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรืออีกวิธีให้ใช้ใบแห้งนำมาบดเป็นผงใช้โรยใส่แผลก็ได้ หากใช้เป็นยาแก้ปวดหรือเป็นยาชาเฉพาะที่ก็ให้ใช้ใบและก้านสดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% ถ้าเป็นในส่วนของรากแห้งหรือรากสดก็ให้นำมาตำแล้วพอก หรือจะนำไปต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบประกอบด้วย Volatile oil และ indole น้ำมันหอมระเหยของใบแก้วมีกลิ่นหอม ประกอบด้วยสารประเภท sesquiterpenes จากการศึกษาวิจัยพบว่า ใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Micrococcus pyogenes var. aureus และ E. coli

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Zingiber officinale Roscoe

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่สด

ลักษณะภายนอก :

เหง้ามีลักษณะเป็นข้อๆ แบนในแนวนอน แตกแขนง รูปร่างเหมือนฝ่ามือประกอบด้วยแง่งเล็กๆ เปรียบเสมือนนิ้ว ขนาดยาว 3-16 เซนติเมตร กว้าง 3-4 เซนติเมตร และหนา มากกว่า 2 เซนติเมตร ผิวนอกสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน มีแนวย่นตามยาว ภายในมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล เป็นเสี้ยน มีเส้นใย (fiber) มาก กลิ่นหอมเฉพาะ ผงสีเหลืองอ่อน รสหวาน เผ็ดจัด ร้อน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหวาน เผ็ดร้อน รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ สรรพคุณโบราณ ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน ส่วนขิงสด ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขิง(แห้ง) 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัมหรือ ยาผงที่มีเหง้าขิง (แห้ง) ซองละ 1 กรัม มีขนาดใช้ดังนี้

  1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง รับประทาน 2-4 กรัม ต่อวัน
  2. ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ รับประทานวันละ 1-2 กรัม ก่อนเดินทาง 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ
  3. ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด รับประทานครั้งละ 1 กรัม ก่อนการผ่าตัด 1 ชั่วโมง (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2559)

กรณีใช้เหง้าแก่สด:

  1. บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ใช้ขิงแก่สดขนาด 2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ล้างให้สะอาด  ทุบให้แตก  ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ  1/3  ถ้วยแก้ว   วันละ  3  ครั้ง  หลังอาหาร
  2. บรรเทาอาการไอระคายคอจากเสมหะ

– เหง้าขิงแก่  2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ฝนกับน้ำมะนาวกวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร

– เหง้าขิงแก่  2  หัวแม่มือ  หรือน้ำหนัก  5  กรัม  ตำ  เติมน้ำ  คั้นเอาแต่น้ำแทรกเกลือ  ใช้กวาดคอถ้าจะใช้จิบบ่อย ๆ ให้เติมน้ำพอควร

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในเหง้าแก่มีน้ำหอมระเหยประมาณ 1-3% ปริมาณของน้ำมันหอมระเหยเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงเวลาเก็บ น้ำมันหอมระเหยมีสารเคมีหลายชนิดเช่น Zingiberine, Zingiberol, Citral, Zingirol, 6-Shogoal, 6-Gingerol, Borneol, Menthol เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม ขับน้ำดี ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Alpinia galanga (L.) Willd.

ชื่อวงศ์                : Zingeberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่ สดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

เหง้าใต้ดินสีน้ำตาลอมแสด มีข้อปล้องสั้น เห็นข้อหรือปล้องได้ชัดเจน เนื้อในสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อนๆ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดปร่า รับประทานเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียดแน่น กินแก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ ขับน้ำคาวปลา ขับรก ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวก แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา แก้ฟกบวม โดยใช้ข่าแก่ฝานเป็นชิ้นบางๆ ชุบเหล้าโรงทา เหง้าแก่สดแก้โรคน้ำกัดเท้าโดยใช้ 1-2 หัวแม่มือ ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอท่วม ทิ้งไว้ 2 วัน ใช้สำลีชุบทาวันละ 3-4 ครั้ง หรือทาลมพิษ (ทาบ่อยๆจนกว่าจะดีขึ้น)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง

ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร

  • รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  • รักษาโรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย หรือ นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) หรืออีกหนึ่งวิธี
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม หรือใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม
  • รักษากลาก เกลื้อน

ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย

ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด

ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี

ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง

ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เหง้าข่ามีน้ำหอมระเหยประมาณ 0.04% ในน้ำมันหอม ระเหยประกอบด้วย Methyl Cinnamate 48%, Cineol 20-30%, การบูร และ α–pinene น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับลมต้านเชื้อแบคทีเรียและสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเหง้าข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ข่ามีความปลอดภัยสูง ไม่พบพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง และไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cassia siamea Lam.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบอ่อนและดอก

ลักษณะภายนอก :

ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ใบเป็นสีเขียวเข้ม มีใบย่อยรูปรี 5-12 คู่ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ที่ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ปลายใบเว้าตื้น โคนใบมน ขอบและแผ่นใบเรียบ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ดอกตูมทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร และแก่นขี้เหล็กเป็นยาระบาย แก้ธาตุพิการ แก้ไฟ ทำให้ตัวเย็นช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษานิ่วในไต รักษาแผลกามโรค แก้หนองใส ขับระดูขาวช่วยฟอกโลหิตในสตรี ขับพยาธิ รักษาอาการเหน็บชา ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็นพิการ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคหิด รักษาฝีมะม่วง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหาร

ใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน

  • แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย

ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดประมาณ 2 องคุลี ใช้ 3-4 ชิ้น ใช้ใบอ่อนหรือแก่ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มเมื่อตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในใบอ่อนและดอกพบว่ามีสารจำพวก Chromone มีชื่อว่า Barakol ส่วนในใบพบสาร Anthraquinones (เช่น Rhein, Sennoside, Chrysophanol, Aloe-emodin) Alkaloid และสารอื่นอีกหลายชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Curcuma longa L.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแห้ง

ลักษณะภายนอก :

เหง้ารูปไข่ มีแง่งแขนงรูปทรงกระบอก หรือคล้ายนิ้วมือ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างตัด สีภายนอกสีน้ำตาลถึงเหลืองเข้มๆ มีรอยย่นๆตามความยาวของแง่ง มีวงแหวนตามขวาง (leaf scars) บางทีมีแขนงเป็นปุ่มเล็กๆสั้นๆ หรือเห็นเป็นรอยแผลเป็นวงกลมที่ปุ่มนั้นถูกหักออกไป ผิวนอกสีเหลืองถึงสีเหลืองน้ำตาล สีภายในสีเหลืองเข้มหรือสีส้มปนน้ำตาล เป็นมัน แข็งและเหนียว เมื่อบดเป็นผงมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้มปนน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขม ฝาด เฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด ใช้ภายใน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี  แผลพุพอง  ลดอาการแพ้  อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย  ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้ภายใน (ยารับประทาน):

– ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง

– เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง

ใช้ภายนอก:

– ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย

– เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน

– เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด

– เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เหง้าขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 2-6 เป็นน้ำมันสีเหลือง มีสารหลายชนิด คือ Turmerone, Zingiberene, Borneol เป็นต้น และมีสารสีเหลืองส้ม คือ เคอร์คิวมิน (Curcumin) ประมาณร้อยละ 1.8-5.4

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Pluchea indica (L.) Less.

ชื่อวงศ์                : Compositae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใช้ส่วนของต้นที่อยู่เหนือดิน ทั้งสดและแห้ง (นิยมใช้เฉพาะใบ)

ลักษณะภายนอก :

ใบรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2.5-10 เซนติเมตร ปลายใบมน ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย โดยรอบมีขนขาวๆปกคลุม ก้านใบสั้นมาก เนื้อใบบาง แผ่นใบเรียบเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ รสหอมฝาดเมาเค็ม มีกลิ่นหอมฉุน ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ขับนิ่ว นำใบสดแก่ นำมาตำแล้วบีบเอาน้ำ ทาตรงหัวริดสีดวงทวาร ทำให้หัวริดสีดวงหดหายไป แก้กระษัย ยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกและภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ นำใบมาตำผสมกับเกลือกินรักษากลิ่นปาก และระงับกลิ่นตัว นำใบมาต้มดื่มแทนชาลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย มุตกิด น้ำคั้นจากใบสดรักษาริดสีดวงทวาร ใบต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน บำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร โรคบิด   ใบและต้นอ่อน บรรเทาอาการปวดข้อ ในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม ตำผสมกับแอลกอฮอล์ ทาหลังบริเวณเหนือไต บรรเทาอาการปวดเอว ต้มน้ำอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง และทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง เปลือกต้น นำมาสับเป็นชิ้นมวนบุหรี่สูบแก้โพรงจมูกอับเสบ (ไซนัส) ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุตกิดระดูขาว แก้ตานขโมย แก้เบาหวาน รักษาวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ต้มอาบ แก้ผื่นคัน แก้ประดง เลือดลม และแก้โรคผิวหนัง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ขับปัสสาวะ ใช้วันละ 1กำมือ (สดหนัก 40-50 กรัม แห้งหนัก 15-20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบขลู่ประกอบด้วยสารประเภทเกลือแร่เช่น Sodium chloride สารโปแตสเซียม และมีสารกลัยโคไซด์ อัลคาลอยด์

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์                : Moraceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกต้นสด

ลักษณะภายนอก :

เปลือกสีเทาอมเขียว เปลือกในสีขาวหนา ผิวเรียบบาง มักมีขนอยู่โดยทั่วไป มียางขาวข้น เปลือกต้น กระพี้ มีรสเมาฝาดขม เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น เปลือกต้นสด มีรสเมาเบื่อ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเมาเบื่อ ใช้ กิ่งสด ขนาดเล็กนำมาทุบใช้สีฟัน ฆ่าเชื้อในปาก ทำให้เหงือกและฟันทน เปลือกต้น นำมาต้มใส่เกลือให้เค็มใช้รักษาโรครำมะนาด แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง คุมธาตุ เปลือกใช้มวนสูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้นต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล สมานแผล และโรคผิวหนัง ทั้งต้น ต้มใส่เกลือ แก้ฟันผุ กระพี้ แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคน เยื่อหุ้มกระพี้ ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก

ตำรายานครราชสีมา: ใช้ เปลือกต้น แก้รำมะนาด โดยนำเปลือกผสมกับเกลือทะเลอย่างละเท่าๆ กัน ต้มให้เกลือละลาย อมเช้า-เย็น หลังอาหารและก่อนนอน

ตำราเภสัชกรรมล้านนา: ใช้ ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ตำรายาแผนไทย: ใช้กิ่งสดยาวประมาณ 5-6 นิ้ว หั่น ต้มใส่เกลือเคี่ยวให้งวดเหลือน้ำครึ่งหนึ่ง อมเช้า เย็น ทำให้ฟันทน และไม่ปวดฟัน

กิ่งข่อยขนาดเล็กทุบให้นิ่มนำมาแปรงฟันให้สะอาด ฟันแข็งแรงไม่ผุ

เปลือกต้นประมาณ  1  ฝ่ามือ  สับ  ต้มกับน้ำพอควร  เติมเกลือให้มีรสเค็ม  ต้มนาน  10-15  นาที  อมน้ำขณะอุ่น ๆ วันละ  3-4  ครั้ง ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

         

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cassia fistula L.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เนื้อในฝักแก่

ลักษณะภายนอก :

เนื้อในฝักแก่  มีเนื้อสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ  เหนียว มีแผ่นสีน้ำตาลแบนกั้นระหว่างเมล็ด เนื้อมีรสหวาน  เอียน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหวานเอียนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาระบาย ถ่ายสะดวก ไม่มวน ไม่ไซ้ท้อง ใช้แก้พรรดึก(ท้องผูก) ระบายพิษไข้ เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน หรือไซ้ท้อง ใช้ในเด็ก หรือผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังได้ ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ แก้ไข้มาลาเรีย แก้บิด ถ่ายพยาธิ แก้ตานขโมย ถ่ายเสมหะ ใช้พอก แก้ปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

เนื้อในฝักแก่สีน้ำตาลดำ  ประมาณ  2  หัวแม่มือ  น้ำหนัก  4-5  กรัม  ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย  (อาจผสมกับน้ำมะขามเปียก หรือน้ำตาล) ดื่มครั้งเดียวหมด  ก่อนนอนหรือเช้ามืดก่อนรับประทานอาหาร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เนื้อในฝักคูนมีสารประเภท Anthraquinones หลายตัว เช่น Aloin, Rhein Sennoside A, B และยังมี Organic acid สาร Anthraquinone ทำให้เนื้อฝักคูนมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย โดยมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เหมาะสำหรับคนท้องผูกเป็นประจำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cassia alata L.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ดอกสด ใบสดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ใบรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบมน ฐานใบไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน ขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว เมื่ออบแห้งแล้วมี             สีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ผงมีสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อนๆ รสเบื่อเอียน ขมเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเบื่อเอียน ใบตำทาแก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ดอกและใบต้มรับประทานแก้อาการท้องผูก                  ใช้ภายในเป็นยาระบาย ไปกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดีขึ้น สมานธาตุ รักษากระเพาะอาหารอักเสบ                             แก้กระษัยเส้น ทำหัวใจให้ปกติ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ ใช้ภายนอก รักษาฝี  และแผลพุพอง อมบ้วนปาก รักษาผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

อาการท้องผูก

ใช้ใบจำนวน  12-15  ใบย่อย  ตากแห้ง  คั่ว  (ใบชุมเห็ดเทศถ้าไม่คั่วเสียก่อน  จะเกิดอาการข้างเคียง   คืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน  เมื่อคั่วความร้อนจะช่วยให้สารที่ออกฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียนสลายไป) แล้วนำไปต้มกับน้ำพอควร  ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืด  หรือก่อนนอน หรือใช้ผงใบ 3-6 กรัม ชงน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 นาที ดื่มก่อนนอน อาจทำเป็นยาลูกกลอนก็ได้ หรือใช้ช่อดอกสด  1-3  ช่อดอก  ลวก  จิ้มน้ำพริก

รักษาฝีแผลพุพอง

ใช้ใบชุมเห็ดเทศ  1  กำมือ  ต้มกับน้ำพอท่วม  เคี่ยวให้เหลือ  1  ใน  3  นำมาชะล้างฝีที่แตกแล้ว  หรือแผลพุพอง  วันละ  2  ครั้ง  เช้า  เย็น  ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากใช้สมุนไพร  10-12                         กำมือ  ต้มกับน้ำใช้อาบเช้าเย็น  จนกว่าจะหาย

กลากเกลื้อน

ใช้ใบสด  4-5  ใบ  ตำรวมกับกระเทียม  4-5  กลีบ  แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย  ทาบริเวณที่เป็นซึ่งได้ใช้ไม้ไผ่บาง ๆ ฆ่าเชื้อแล้วขูดผิวบริเวณที่นั้นให้มีสีแดง(กรณีกลาก)  ทาวันละ  3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย  และเมื่อหายแล้วให้ทาไปอีก 1  สัปดาห์ หรือจะใช้ใบสดตำแช่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี แต่ไม่ค่อยได้ผลในกลากที่ผมและเล็บ

ขับพยาธิ

ใบสดประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 20 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบชุมเห็ดเทศมีสารสำคัญคือ แอนทราควิโนน (Antraquinone) เช่นสาร Aloe-modin, Chrysophanol, Emodin, Sennoside, Rhein เป็นต้น ยังมีพวก Flavonoids, Terpenoids                             สารแอนทราควิโนนมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัวเพื่อขับถ่าย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Piper retrofractum Vahl

ชื่อวงศ์                : Piperaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่จัด ตากแดดให้แห้ง

ลักษณะภายนอก :

ผลแห้งสีน้ำตาลแดง  ผลอัดกันแน่นเป็นช่อรูปทรงกระบอก  โคนโต  ปลายเล็กมน  ขนาดยาวประมาณ  2.5-7.5  เซนติเมตร  เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5.0 – 8.0  มิลลิเมตร  ผิวค่อนข้างหยาบ  และมีเกสรตัวเมียติดอยู่ ผลย่อยมีเมล็ดเดียว  เมล็ดมีขนาดเล็กมาก  กลมและแข็ง  ผงผลสีน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะ  รสเผ็ดร้อน  ขม ปร่า ขับน้ำลาย ทำให้ลิ้นชา

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน ขม ใช้ผล ขับลม ลดอาการไอ ระคายคอจากเสมหะ ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่น                              จุกเสียด  บำรุงธาตุไฟ แก้ปวดท้อง  แก้คลื่นไส้  อาเจียน  แก้ตับพิการ แก้ท้องร่วง แก้ไอ  บีบมดลูก บำรุงธาตุ  ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ  เช่น  ขับเสมหะ  แก้หืด  แก้หลอดลมอักเสบ  แก้ลมวิงเวียน เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ  โรคลมบ้าหมู  เป็นยาขับน้ำดี  เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี  ยาขับระดูและทำให้แท้งลูก  เป็นยาขับพยาธิในท้อง  แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ปรุงเป็นยาทาภายนอกสำหรับบรรเทาอาการปวดที่กล้ามเนื้อ  ทำให้ร้อนแดงและมีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณนั้นมากขึ้น  แก้อักเสบ ฝนเอาน้ำทาแก้ฟก บวม ใส่ฟัน แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. อาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  และปวดท้อง  และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ

โดยใช้ผลดีปลีแก่แห้ง  1  กำมือ  (ประมาณ  10-12  ผล)  เติมน้ำ  2  ถ้วยแก้ว  ต้ม  10-15  นาที  ดื่มแต่น้ำวันละ  3  ครั้ง  หลังอาหาร

  1. อาการไอ  และขับเสมหะ

โดยใช้ผลแก่แห้ง  ประมาณครึ่งผล  ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือเล็กน้อย  กวาดคอ  หรือจิบบ่อยๆให้เติมน้ำพอควร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ดีปลีประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 0.7% มีกลิ่นหอมเฉพาะ และประกอบด้วยอัลคาลอยด์ชื่อ Piperine, Piplartine, และ Liquid Alkaloid มีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ขับน้ำดี และแก้ท้องเสีย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Coccinia grandis (L.) Voigt

ชื่อวงศ์                : Cucurbitaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเป็น 3 แฉก หรือ 5 แฉก โคนใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ มีมือเกาะยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ มีลักษณะเป็นรูประฆัง กลีบดอกสีขาว แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกออกตรงที่ซอกใบ ลักษณะของผลเป็นวงรีทรงยาวสีเขียวอ่อน เมื่อยามแก่จัดจะเป็นสีแดง รสเย็น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเย็น ใบสดตำคั้นน้ำแก้พิษแมลงสัตว์กัด ต่อยที่ทำให้ปวดแสบร้อนและคัน ตำลึงเป็นยาเย็นดับพิษร้อน เถา รสจืดเย็น เป็นยาเย็นดับพิษ แก้ตาช้ำ ปวดตา ใช้ถอนพิษ แก้ฝี แก้โรคตาต่างๆ ใบ มีรสเย็นแก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ แก้เริมช่วยย่อยอาหาร แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคตา รักษาเลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตจาง ใบตัวผู้ ใช้ผสมยาเขียว แก้ไข้ แก้พิษจากขนพืชหรือสัตว์ต่างๆ ราก ลดความร้อน แก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษ แก้โรคตา ผล แก้เจ็บเส้น ลิ้นเป็นแผล แก้ฝีแดง ทั้งต้น มีรสเย็น แก้โรคผิวหนัง แก้มะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด แก้โรคหัวใจ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้พิษคันจากใบไม้คันหรือหนอนคัน (ตัวบุ้ง) โดยนำใบตำลึงสดสัก ๔-๕ ใบ มาขยี้ เอาน้ำชโลมหรือทาบริเวณที่คัน หรือใช้ใบสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
  • แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบตำลึงล้างน้ำต้มสุกให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำผสมดินสอพอง สะตุ (เผาจนสุก) ทาผิวบริเวณที่เป็นให้เปียกชื้นอยู่เสมอ อาการแสบร้อนจะทุเลาลง แต่หากทาแล้วไม่รู้สึกเย็น ก็แปลว่ายาไม่ถูกโรคให้เลิกใช้
  • ยอด เถา ใบ และราก ตำคั้นน้ำดื่มแก้หลอดลมอักเสบ
  • ลิ้นเจ็บ ลิ้นเป็นแผล ให้เคี้ยวผลตำลึงอ่อนจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บแสบจากแผลได้
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม
  • แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา หรือตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา
  • แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อน 3-4 ท่อนโดยแต่ละท่อน ยาว 1 คืบ นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟ จนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
  • ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสด ๆ
  • ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
  • ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในตำลึงมีสารเคมีที่ตรวจพบคือ Amino acid หลายชนิด β-Sitosterol มีรายงานว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ในระยะเวลาสั้น โดยใช้หนตะเภา ไม่มีรายงานการศึกษาฤทธิ์แก้แพ้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cymbopogon citratus (DC.) Stapf

ชื่อวงศ์                : Poaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าและลำต้นแก่

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง ตามปล้องมักมีไขปกคุลม เหง้า มีข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล หรือสีขาวปนม่วง รสปร่า  มีกลิ่นหอมเฉพาะ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหอมปร่า กลิ่นหอม บำรุงไฟธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร แก้คาว ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด  แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต เหง้า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือน ขับระดูขาว ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

รักษาอาการขัดเบา

เหง้าและลำต้นสด   หรือแห้ง  1  กำมือ  หรือน้ำหนักสด  40-60  กรัม  แห้ง  20-30  กรัม  ทุบต้มกับน้ำพอควร  แบ่งดื่ม  3  ครั้ง ๆ ละ  1  ถ้วยชา (75  มิลิลิตร) ก่อนอาหาร  หรือจะหั่นตะไคร้  คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอเหลือง  ชงด้วยน้ำเดือด  ปิดฝาทิ้งไว้  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ  1  ถ้วยชา  ก่อนอาหาร

รักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด

ใช้เหง้าและลำต้นสด  1  กำมือ  น้ำหนัก  40-60  กรัม  ทุบพอแตก  ต้มกับน้ำ  2  ถ้วยแก้ว  เดือด  5-10  นาที  ดื่มแต่น้ำ  ครั้งละ  1/2  แก้ว  วันละ  3  ครั้งหลังอาหาร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบและลำต้นประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.2-0.4% ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ Citral (65-85%), Myrcene, Citronellal, Geraniol, Menthol, Citxonellol, Eugenol, Inalool เป็นต้น น้ำมันตะไคร้มีฤทธิ์ขับลม ลดการบีบตัวของลำไส้และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Impatiens balsamina L.

ชื่อวงศ์                : Balsaminaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบทั้งสดและแห้ง ยอดสด ต้นและรากสด เมล็ดแห้ง

ลักษณะภายนอก :  

ลำต้นอวบน้ำและค่อนข้างโปร่งแสง ออกดอกออกผลแล้วต้นจะตาย ใบเดี่ยวเรียงสลับรอบลำต้น               รูปวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ออกที่ซอกใบ กลีบดอกมีสีชมพู แดง ม่วง ขาว ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จัดจะแตกออก เปลือกผลม้วนขมวดขึ้น และดีดเมล็ดที่ค่อนข้างกลมสีน้ำตาลออกมา เพื่อช่วยกระจายพันธุ์

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ส่วนใหญ่หมอจีนใช้ใบของเทียนดอกขาว ตำพอกเล็บขบ และปวดตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ถอนพิษปวดแสบ ปวดร้อน ใช้ใบสดเป็นยารักษากลากเกลื้อน แก้ฝีและแผลพุพอง ใช้ใบสด แก้ปวดข้อ ยารักษากลากเกลื้อน แก้ฝีและแผลพุพอง ยากันเล็บถอด ใช้ใบแห้ง แก้แผลอักเสบ ฝีหนอง แผลเน่าเปื่อย รักษาแผลเรื้อรัง ใช้ยอดสด แก้จมูกอักเสบ บวมแดง ใช้ต้นสด แก้แผลงูสวัด ใช้รากสด แก้บวมน้ำ ตำพอกแผลที่ถูกเสี้ยนหรือแก้วตำ และใช้เมล็ดแห้ง แก้ประจำเดือนไม่มา ขับประจำเดือน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • การเก็บมาใช้เป็นยา ถ้าเป็นส่วนของใบหรือทั้งต้น ให้เก็บในช่วงฤดูร้อนแล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือจะใช้สด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นดอก ให้เก็บตอนที่ดอกบานเต็มที่แล้ว แล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือถ้าเป็นเมล็ด ก็ให้เลือกเก็บตอนแก่เต็มที่ก่อนแตก แล้วนำมาตากแห้ง เอาสิ่งปลอมปนออก แล้วเก็บไว้ใช้
  • หากใช้ทั้งต้น ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะทำเป็นเม็ดหรือผงรับประทานก็ได้ (หากใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง), ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 10-15 กรัม (ใบสดใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (หากใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือต้มอาน้ำชะล้าง) หรือเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 2-4 กรัม (บ้างว่า 2.5-8 กรัม) นำมาทำเป็นเม็ดหรือเป็นผง (ใช้ภายนอก ให้นำมาบดเป็นผง) แต่ถ้าเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน ส่วนรากนั้น ถ้าเป็นรากแห้งให้นำมาบดเป็นผงรับประทานหรือแช่กับเหล้ากิน (หากใช้ภายนอก ให้นำมาตำแล้วพอก) และถ้าเป็นเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม หรือใช้ครั้งละ  2-5 กรัม นำมาบดเป็นผงหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาทำเป็นยาเม็ด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบเทียนบ้านมีส่วนประกอบชื่อ 2-methoxy-1, 4-naphthaquinone ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราในพืชได้ นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์หลายชนิดในดอกพบสาร harands, anthocyanin, และสารอื่นๆ จากการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบของเทียนบ้าน ฆ่าเชื้อจำพวก dermatophytes ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคผิวหนัง กลาก และฮ่องกงฟุตได้ ส่วนฤทธิ์ในการรักษาฝียังไม่มีผู้ทดลอง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz

ชื่อวงศ์                : Acanthaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบ ราก ทั้งต้น (สดหรือแห้ง)

ลักษณะภายนอก :

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรี โคนและปลายใบสอบเรียว ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย และแต่ละคู่ออกสลับทิศทางกัน เนื้อใบบางและเกลี้ยง แผ่นใบมีสีเขียวเป็นมัน ผล เป็นฝักที่มีขนสั้นๆ คลุม ภายในมี 4 เมล็ด พอแห้งแตกออกได้

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเบื่อเมา เป็นยาเย็นดับพิษไข้ ใช้ราก แก้กลากเกลื้อน รักษาโรคมะเร็ง รักษาโรคผิวหนัง ดับพิษไข้ แก้พิษงู แก้พยาธิวงแหวนตามผิวหนัง ใช้ใบ แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน แก้โรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคมะเร็ง รักษาโรคความดันโลหิตสูง แก้ผมร่วง บำรุงร่างกาย แก้พิษงู แก้อักเสบ ใช้ทั้งต้น รักษาโรคผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน รักษามะเร็ง คุดทะราด แก้ไส้เลื่อน ขับพยาธิตามผิวหนัง ตามบาดแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ทาแก้กลากเกลื้อนหรือโรคผิวหนังผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบสดผสมน้ำมันถ่านหินหรือแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจใช้รากบดเป็นผงแช่แอลกอฮอลล์ 1 อาทิตย์ เอามาทาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบหรือรากสด ตำกับน้ำปูนใสผสมพริกไทย พอกแก้โรคผิวหนังเรื้อรัง กลาก และโรคผิวหนังอักเสบ หรือใช้ใบ (สดหรือแห้ง) หรือราก (สดหรือแห้ง) ตำให้ละเอียด แช่เหล้าพอท่วมตั้งไว้ 7 วัน นำน้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ หรือทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วให้ทาต่ออีก 7 วัน เหตุที่ต้องแช่ไว้นาน 7 วัน เป็นเพราะน้ำยาที่ยังแช่ไม่ครบกำหนดจะมีฤทธิ์กัดผิวหนัง ถ้านำไปทาจะทำให้ผิวหนังแสบและคันมากขึ้น น้ำยาจากรากแห้งกัดผิวมากกว่าใบแห้ง
  • ส่วนน้ำยาจากใบสดไม่กัดผิว  ใช้รับประทานเป็นยาภายใน รักษาโรคมะเร็ง และวัณโรคระยะเริ่มแรก
  • ใช้ทั้งต้น สด จำนวน 30 กรัม ต้มกับน้ำ จำนวนท่วมใบยา ต้มดื่มต่างน้ำ
  • ใช้ก้านและใบสด 30 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม) ผสมน้ำตาลกรวดต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดระยะเริ่มแรก
  • ช่วยขับปัสสาวะ ให้ใช้ใบสด คั่วให้แห้งนำมาชงเป็นชาใช้ดื่มจะช่วยขับปัสสาวะได้

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ไม่พบรายงานการศึกษาทางเคมีและเภสัชวิทยา ส่วนกองวิจัยทางการแพย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาพิษเฉียบพลันแล้วพบว่าไม่มีพิษ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Punica granatum L.

ชื่อวงศ์                : Lythraceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบแห้ง เปลือกผลแห้ง เก็บในช่วงที่ผลแก่ ใช้เปลือกผลตากแดดให้แห้ง ใบแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายแหลม ยาว 2-9 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบกว้าง ขอบเรียบ ผิวใบหนา ใบแห้งสีเขียวอมน้ำตาล รสฝาดเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ปิดธาตุ สมานแผล พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ  แก้โรคลักปิดลักเปิด ทับทิมทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) แก้ท้องเสีย แก้บิด มูกเลือด ขับพยาธิเส้นด้าย และตัวตืด ใบสดนำมาต้ม กรองเอาน้ำใช้ล้างแผลที่มีหนอง หรือใช้ใบสดตำพอกบริเวณที่เป็นแผลถลอก สมานแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • การถ่าย และกำจัดพยาธิ ให้ใช้เปลือกลำต้นหรือราก 1-2 กำมือ นำมาต้มเคี่ยวนาน 2-3 ชั่วโมง แล้วดื่มก่อนอาหารทุกวัน วันละ 3 ครั้ง นาน 5-7 วัน ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลม ได้ผลดี
  • ใช้เปลือกสดของราก , ต้น ที่เก็บใหม่ๆ 60 กรัม หรือประมาณ 1/2 กำมือ เติมกานพลูหรือกระวานลงไปเล็กน้อย เพื่อแต่งรส ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซี.ซี.) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง รับประทานยาถ่าย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะตาม ควรอดอาหารก่อนรับประทานยา
  • รักษาท้องร่วง ท้องเสีย ให้นำรากหรือลำต้นมาต้มเคี่ยวนาน 2 ชั่วโมง ก่อนดื่มวันละ 3-4 ครั้ง หลังเกิดอาการท้องเสีย และดื่มติดกัน 1-2 วัน จนกว่าอาการจะหาย
  • ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรือ อหิวาตกโรค) ใช้เปลือกผล ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1/4 ของผล ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใส แล้วดื่มน้ำที่ต้มก็ได้
  • บิด (มีอาการปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 2 ครั้ง อาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้
    อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าเราควรกินน้ำทับทิมหรือสารสกัดจากทับทิมในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น อายุ สุขภาพ และปัจจัยอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้าคุณต้องกินสารสกัดจากทับทิมคุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือกินตามปริมาณที่ติดตามฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะดีที่สุด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เปลือกผลมีรสฝาดเนื่องจากมีสารแทนนินประมาณ 22-25%, กรด gallotannic 28%, สารสีเขียวอมเหลือง เป็นต้น เปลือกผลมีฤทธิ์ฝาดสมาน เพราะมีสารแทนนินและกรด gallotannic จึงรักษาอาการท้องเดินได้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Annona squamosa L.

ชื่อวงศ์                : Annonaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสดและเมล็ด

ลักษณะภายนอก :

เมล็ดรูปไข่หรือรูปรี แข็ง สีดำ หรือน้ำตาลเข้ม เป็นมัน ขนาดกว้าง 3-6 มม. ยาว 1 ซม. ในผลหนึ่งมีประมาณ 50-60 เมล็ด เนื้อในเมล็ดสีขาว เมล็ดมีรสเมา มัน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเมา มัน ใช้เมล็ด ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเหา ฆ่าหิด  ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด แก้บวม  รับประทานขับเสมหะ ใช้ใบแก้กลากเกลื้อนและฆ่าเหา ชาวชนบทมักเอาลูกตายมาฝนกับเหล้า รักษาแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • กำจัดเหา ใช้เมล็ดประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ1 กำมือ (15 กรัม) ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 ขยี้ให้ทั่วศรีษะ (ระวังอย่าให้เข้าตาเพราะจะทำให้ตาอักเสบได้) ใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้หวีสางเหาออก สระผมให้สะอาด (รุ่งระวี และคณะ, 2542)
  • รักษาหิด ใช้ใบสด หรือเมล็ดในสด พอประมาณ ตำให้ละเอียดเติมน้ำมันพืชลงไปพอแฉะ ใช้ทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (สุนทรี, 2536)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในใบและเมล็ดน้อยหน่ามีสารเคมีชื่อ Anonaine ส่วนในเมล็ดมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45% ประกอบด้วย Organic acid หลายชนิด, resin, steroids, alkaloid, และอื่นๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson

ชื่อวงศ์                : Menispermaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เถาหรือลำต้นสด

ลักษณะภายนอก :

เถามีเนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวได้ถึง 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เปลือกเถาหนา 1.5-2.5 มิลลิเมตร ผิวนอกสีน้ำตาล เนื้อในสีเทาแกมเหลือง เถากลม ผิวเถาขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมาก เปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส เปลือกบางลอกออกได้ บางตอนของเถาพบรากอากาศคล้ายเส้นด้าย กลมยาว สีน้ำตาลเข้ม เมื่อตัดเถาตามขวางพบแนวเส้นเป็นรัศมี ออกจากจุดศูนย์กลาง ประมาณ 15-20 เส้นระหว่างเส้นเป็นรูพรุน เถามีมีกลิ่นเฉพาะ รสขมจัดเย็น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขมจัด เย็น มีสรรพคุณระงับความร้อน ใช้เถาแก้ไข้ทุกชนิด แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร  ต้มดื่มเพื่อให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้สะอึก  แก้มาลาเรีย เป็นยาขับเหงื่อ ดับกระหาย แก้ร้อนในดีมาก ลดน้ำตาลในเลือด ขับพยาธิ แก้อหิวาตกโรค แก้ท้องเสีย ไข้จับสั่น ระงับความร้อน ทำให้เนื้อเย็น ทำให้เลือดเย็น แก้โลหิตพิการ ใช้ภายนอกใช้ล้างตา ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส ทุกส่วนของพืช ใช้แก้ไข้ เป็นยาบำรุง แก้บาดทะยัก โรคดีซ่าน ยาเจริญอาหาร  แก้มาลาเรีย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

รักษาอาการไข้ : ประมาณ 1- 11/2 ฟุต (2.5 คืบ) น้ำหนัก 30-40 กรัม โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย  คั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือบดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น

รักษาอาการเบื่ออาหาร : ใช้เถาที่โตเต็มที่ ประมาณ 1- 11/2 ฟุต (2.5 คืบ) น้ำหนัก  30-40  กรัม  โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำ หรือต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือบดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ต้นบอระเพ็ดมีสารเคมีคือ N-trans-feruloyltyramine, N-cis-feru-loyltyramine, tinotuberide, phytosterol, และ Picroretin

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Centella asiatica (L.) Urb.

ชื่อวงศ์                : Apiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ต้นสดและใบสด

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้ล้มลุก อยู่ในจำพวกผัก ประเภทเลื้อย มีลำต้นเลื้อยไปตามดินที่ชื้นแฉะ เรียกว่า ไหล มีรากงอกออกตามข้อของลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบงอกเป็นกระจุกออกจากข้อ ข้อละ 2-10 ใบ ลักษณะใบรูปไต รูปร่างกลม ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน ขอบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวมีขนเล็กน้อย ก้านใบสีเขียวยาว

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขมเย็น เป็นยาดับร้อน ลดอาการอักเสบบวม แก้ปวดท้อง แก้ดีซ่าน แก้บิด ใบสดต้มกับน้ำซาวข้าวดื่มแก้นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ แก้แผลโรคเรื้อน ใช้ต้น เป็นยำบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือมีการชอกช้ำจากการกระแทก แก้พิษงูกัด ปวดศีรษะข้างเดียว ขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำใน ใช้ทั้งต้นบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคปวดศีรษะข้างเดียว (ไมเกรน) แก้โรคเรื้อน แก้กามโรค แก้ตับอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน ชนิดแคปซูล (รพ.), ชนิดชง(รพ.) ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2 – 4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • รักษาแมลงกัดต่อย และรักษาแผล ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้ใบขยี้ทาแก้แมลงกัดต่อย หรือใช้ส่วนใบสด พอกที่แผลสด วันละ 2 ครั้ง ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ครีมใบบัวบกทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทาครีมที่มีสารสกัดจากบัวบกสดร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก  ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1 – 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากใช้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ ควรเก็บครีมใบบัวบกในที่เย็น อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • แก้อาการปัสสาวะติดขัด ด้วยการใช้ใบบัวบกประมาณ 50 กรัม นำมาตำแล้วพอกบริเวณสะดือ เมื่อถ่ายปัสสาวะคล่องดีแล้วค่อยเอาออก
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบนำมาล้างให้สะอาด ตำพอกแผลสด
  • แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบบัวบกมาทุบให้แหลกแล้วนำมาโปะบริเวณที่ฟกช้ำ หรือจะใช้ใบบัวบกประมาณ 40 กรัม ต้มกับเหล้าแดงประมาณ 250 cc. ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วนำมาดื่ม

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

สารสำคัญที่สกัดได้จากบัวบกคือ madecassicacid, asiatic acid, asiaticoside, madecassoside เป็นต้น สารเหล่านี้มีฤทธ์ในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดหนอง ฆ่าเชื้อราและลดอาการอักเสบได้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Psidium guajava L.

ชื่อวงศ์                : Myrtaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบเพสลาด ผลอ่อนสด ผลสุก เปลือกต้นสดๆ ราก

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 3-5 เมตร ผิวเปลือกต้นเรียบเกลี้ยง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบ หนา หยาบ              ใต้ท้องใบเป็นริ้ว เห็นเส้นใบชัดเจน ขนขึ้นนวลบาง ใบยาวประมาณ 10 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. ดอกช่อ                ช่อหนึ่งมีดอกย่อย 3 – 5 ดอก ดอกเล็ก สีขาวอมเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงแข็ง ผล รูปทรงกลม รูปไข่ หรือรูปรี              ผิว เกลี้ยง สีเขียว เนื้อในขาว รสหวาน กรอบ ผลสุกสีเหลือง- เขียว มีเมล็ดเล็กๆ แข็งอยู่ภายใน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด ฤทธิ์ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย ใช้ใบ แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิด หรืออหิวาตกโรค) เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด ใช้ใบ 2-3 ใบเคี้ยวๆ ระงับกลิ่นปาก แก้ฝี เป็นยาล้างแผล ดูดหนองและถอนพิษบาดแผล แก้เหงือกบวม แก้พิษเรื้อรัง แก้ปวดเนื่องจากเล็บขบ แก้แพ้ยุง ใช้ผลอ่อน แก้บิดมูกเลือด แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) บำรุงเหงือกและฟัน บำรุงผิวพรรณ ใช้ราก แก้น้ำเหลืองเสีย เป็นฝี แผลพุพอง แก้เลือดกำเดาไหล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้ลำไส้อักเสบ บิด ใช้ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันและท้องเสีย ที่เกิดจากการย่อยไม่ดี ใช้ใบแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้บาดแผลเกิดจากการหกล้มหรือกระทบกระแทกหรือบาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดตำพอกแผลภายนอก
  • แก้ปวดฟัน ใช้เปลือกรากผสมน้ำส้มสายชูต้มเอามาอมแก้ปวดฟัน
  • แก้เด็กเป็นแผลเล็กแผลน้อยเรื้อรัง ใช้เปลือก ราก ต้มร่วมกับขนไก่ เอามาชะล้างบาดแผล
  • แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ใช้เปลือกต้นสดและใบต้นเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
  • แก้ท้องร่วง ใช้ใบหรือผลดิบ ต้มกินต่างชา (ใบแห้ง 5 กรัม ใส่น้ำ 100 มล.)
  • ใช้สวนล้างช่องคลอดหลังคลอด ใช้น้ำต้มจากใบสดอุ่นๆ สวนล้าง
  • ใช้ในการดับกลิ่นปาก ด้วยการนำใบสด 3-5 ใบมาเคี้ยวแล้วคายกากทิ้ง
  • ช่วยรักษาอาการเสียงแห้ง แก้คออักเสบโดยการใช้ผลที่ตากแห้งต้มน้ำกิน
  • ยอดอ่อนๆ ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบ ชงน้ำกินแก้ท้องร่วง บิด ใบสดเคี้ยวอมดับกลิ่นบุหรี่ เหล้า และกลิ่นปากได้ดี

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบฝรั่งมีแทนนิน (tannin) 8-15% เป็นประเภท Catechol และ Pyrogallol และน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น aromadendrene, β – bisabolene, caryophyllene, caryophyllene oxide, longicyclene, tertiary sesquiterpene alcohol เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Spilanthes acmella (L.) L.

ชื่อวงศ์                : Compositae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ดอกสด ราก เมล็ด ทั้งต้น

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือทอดไปตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้น ลำต้นกลมอวบน้ำ มีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม ลำต้นอ่อน มีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ หรือจักเป็นฟันเลื่อยแบบหยาบๆ ผิวใบสากมีขน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง เป็นกระจุกสีเหลือง ลักษณะกลม รูปไข่ ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ยาว 8 มิลลิเมตร กลีบดอกรูปรางน้ำ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ด ใช้ดอก ชาลิ้น เป็นยาขับน้ำลาย แก้โรคในคอ รักษาแผลในปากคอ แก้ปวดฟัน (ใช้ดอกตำกับเกลืออมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวด หรือใช้ดอกตำผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ชุบสำลีอุดรูฟันที่ปวด) รำมะนาด แก้โรคลิ้นเป็นอัมพาต แก้โรคติดอ่างในเด็ก แก้ปวดศีรษะ ใบ รสชาติหวาน ขม เอียน เบื่อเล็กน้อย ชาลิ้น ใช้เคี้ยวเป็นยาแก้วปวดฟัน ยาชา แก้พิษตามทวาร แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง แก้เด็กตัวร้อน แก้ปวดหัว แก้โลหิตเป็นพิษ รักษาแผล ยาผายลมเด็กแก้ท้องอืดเฟ้อ แก้สำรอกของเด็ก แก้อัมพาต ยาถ่ายสำหรับเด็ก แก้พุพอง แก้ตกเลือด แก้มึน แก้ตาฟาง แก้ฝีดาษ ต้นสด ตำผสมเหล้า หรือน้ำส้มสายชู อมแก้ฝีในคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ไข้แก้ปวดฟัน  รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหารได้ ทั้งต้น มีรสเอียนเบื่อเล็กน้อย แก้พิษตานซาง แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง แก้เด็กตัวร้อน แก้บิด แก้เลือดออกตามไรฟัน ทั้งต้น  ชงดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้หอบไอ ระงับหอบ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ปอดบวม แก้ไอกรน ไขข้ออักเสบ ตำพอกแก้พิษปวดบวม แก้งูและสุนัขกัด ทั้งต้นตำผสมสุรา ชุบสำลีอม แก้ฝีในคอ แก้คออักเสบ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้คันคอ ผสมขมิ้นอ้อย และเกลือสะตุ กวาดคอเด็กแก้ตัวร้อน แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน ทั้งต้นต้มดื่ม แก้ปวดท้องหลังคลอด แก้ชอกช้ำภายในทรวงอก เจ็บปวดสีข้าง เป็นยาชาเฉพาะที่ ทั้งต้นตำพอก แก้พิษปวดบวม มีฤทธิ์ฆ่าตัวอ่อนยุง ใช้เบื่อปลา น้ำต้มราก รสเอียน เบื่อเล็กน้อย เป็นยาถ่าย ใช้เป็นยาอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปาก แก้อาการอักเสบ และเจ็บคอ  เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ปวดศีรษะ แก้คัน ราก ใช้เคี้ยวแก้ปวดฟัน ผล ปรุงเป็นยาแก้ร้อนใน เมล็ด เคี้ยวแก้ปากแห้ง เป็นยาขับน้ำลาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้เป็นยาภายใน ต้มแห้งหนัก 3.2- 10 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงหนัก 0.7- 1 กรัม รับประทานกับน้ำ หรือผสมกับเหล้ารับประทาน ใช้เป็นยาภายนอก ต้นสดตำพอก หรือเอาน้ำทาถู หรือใช้ต้นสด 1 ต้น ตำให้ละเอียด เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นน้ำ ใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน ทำให้หายปวดฟันได้

หรือใช้รักษาตามอาการของโรค เช่น รักษาไข้จับสั่น-ผักคราดหัวแหวน 1 ตำลึง ต้มน้ำใส่น้ำตาลแดง กรองเอาน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยกิน และใช้ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ นอกจากนี้อาจใช้ก้านขยี้ทาแผลในปากเด็ก ซึ่งเกิดเนื่องจากร้อนใน ใช้แก้ปวดฟัน ใช้ดอกตำกับเกลืออมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวดฟัน หรือใช้ก้านสดมาเคี้ยวตรงบริเวณฟันซี่ที่ปวด เพื่อให้น้ำจากก้านซึมเข้าไปตรงที่ปวด จะทำให้ชาสามารถระงับอาการปวดฟันได้ดี  ถ้าฟันที่ปวดเป็นรู ใช้ขยี้ให้เละ อุดเข้าไปในรูนั้น สักครู่จะทำให้ชาและหายปวด แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นแห้งบดเป็นผง ทำเป็นยาน้ำเชื่อม (ในน้ำเชื่อม 10 มล. มีเนื้อยานี้ 3.2 กรัม) กินครั้งละ 30 มล. วันละ 2 ครั้ง  ผิวหนังเป็นผื่นฝีตุ่มพิษ-ผักคราดหัวแหวนตำกับเหล้า ใช้พอกหรือทาฝีแผลเรื้อรังหายยาก-ผักคราดหัวแหวน ตำแหลกเอาน้ำผสมน้ำมันชาทาหรือพอก  ฝีตะมอยหัวนิ้วมือนิ้วเท้า-ผักคราดหัวแหวน หญ้าดอกตูบ  ตะขาบบิน อย่างละเท่าๆ กัน ตำแหลก แล้วพอก ถ้าแผลแตกก็ตำใส่น้ำผึ้งพอก

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในใบ ช่อดอก ก้านช่อ และดอก มีสาร spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่การทดลองฤทธิ์การชาเฉพาะที่กับสัตว์ทดลองและคนปกติโดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา lidocaine พบว่าได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า สรุปได้ว่าผักคราดหัวแหวนมีผลในการรักษาอาการปวดฟัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br.

ชื่อวงศ์                : Convolvulaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบ รากสด ทั้งต้น เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

ไม้เลื้อยล้มลุก เลื้อยไปตามผิวทรายหรือดิน ชอบขึ้นในพื้นที่ใกล้ทะเล ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ใบ เดี่ยว แผ่นใบกว้าง โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลึก ดอก ช่อ มี 4-6 ดอก กลีบดอกสีชมพูอมม่วง กลีบดอกติดกันปลายบานคล้ายปากแตร ดอกบานตอนเช้า บ่ายๆ จะหุบเหี่ยว ผล เป็นผลแห้งแตกได้

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขื่นเย็น ใช้ใบสด เป็นยาพอก ต้มอาบรักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดไขข้อบวมอักเสบมีหนอง ใช้รากสด ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคเท้าช้าง ปวดฟัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง ใช้ทั้งต้น แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกระพรุนไฟ ถอนพิษลมเพลมพัด ต้มอาบแก้โรคคันตามผิวหนัง ใช้เมล็ด ป้องกันโรคตะคริว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • นำใบมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะแต่น้ำ ใช้ทาบริเวณข้อ ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบ หรือนำใบต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อลดอาการแน่นท้อง และจุกเสียด
  • ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยล้างกระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • เมล็ดทุบให้แตก ต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการปวดท้องและกล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • เถาหรือรากใช้ต้มกับน้ำ ใช้อาบเพื่อแก้อาหารคันตามผิวหนัง แก้ผดผื่น หรือนำลำต้นมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาแก้พิษแมงกะพรุน
  • ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่าแก้พิษแมงกะพรุนไฟ แก้แพ้พิษต่างๆใช้รากสด 1 ราก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชูฝนให้ข้นๆ อาจใช้เหล้าโรงหรือแอลกอฮอล์ผสมด้วยจะได้ผลดี ใช้ทาบ่อยๆ หรือใช้ใบผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชู หรือเหล้าขาวแล้วนำมาประคบผิวหนังบริเวณที่โดนพิษแมงกะพรุนและห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดแสบปวดร้อนจากพิษจะคลายลง
  • แก้อาการปวดท้อง ลดอาการแน่นท้อง ช่วยไล่ลมออกจากกระเพาะและลำไส้ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน แก้อาการเป็นตะคริว นำเมล็ดที่แก่จัดสัก 1 กำมือ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด เวลาใช้นำมาชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่ม
  • แก้ฝีหนองภายนอกระบุให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลก ผสมกับน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ หากเป็นการใช้เพื่อรักษาภายในถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในผักบุ้งทะเลมีน้ำมันหอมระเหย (Essential oil), มีกรดอินทรีย์ เช่น malic acid, citric acid, tartaric acid, fumaric acid, succinic acid, และ สารอื่นๆ เช่น ergometrine, ergotamine, eugenol, inorganic element มีฤทธิ์แก้แพ้ จากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านฮีสตามีน (Anti-histamine) และยับยั้งพิษของแมงกะพรุน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Oroxylum indicum (L.) Kurz

ชื่อวงศ์                : Bignoniaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เปลือกต้น รสฝาด ขม เย็น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ แก้บิด แก้อาการจุกเสียด แก้ไข้รากสาด แก้ฝี รักษามะเร็งเพลิง  ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน ช่วยเจริญอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อาการบวม ฟกช้ำ และ อักเสบ หรือนำเปลือกเพกาฝนทารอบๆฝีแก้ปวดฝี
  • เปลือกต้นตำผสมกับสุรา ใช้เป็นยากวาดประสะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง
  • แก้ละอองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้ ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา
  • ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม (ซึ่งได้จากรังมดแดง) หรือเกลือสินเธาว์
  • รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด
  • รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยน รากหญ้าคา รวม 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละ 2 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหาร เช้าและเย็น ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ
  • ขับเสมหะโดยใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5 – 3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อน ๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • แก้โรคไส้เลื่อน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตาย หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด นำมาทาลูกอัณฑะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เพกาประกอบไปด้วยสารเคมี เช่น methyl oroxylopterocarpan, baicalein, chrysin, 5,7-dihydroxy-6-methylflavone, oroxylin A, scutellarein 7-rutinoside, galangin, lapachol มีฤทธิ์ที่ใช้แก้ไอและขับเสมหะ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau

ชื่อวงศ์                : Acanthaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบ

ลักษณะภายนอก :

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปใบหอกยาวแคบๆ ปลายใบยาวแหลม ไม่มีหนาม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียว ขนาดยาว 7-9 ซม. กว้าง 2-3 ซม. ก้านใบยาว 0.5 ซม.

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสจืดเย็น ใช้ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตะขาบ แมลงป่อง รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ แผลน้ำร้อนลวก ใบนำมาสกัดทำทิงเจอร์และกรีเซอรีน ใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริ่ม Herpes และรักษาแผลร้อนในในปาก Apthous ดับพิษร้อน แก้แผลน้ำร้อนลวก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ทาบริเวณที่แมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคัน ใช้ใบสด 5-10 ใบ ตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะยุบหายได้ผลดี
  • แก้แผลน้ำร้อนลวก ใช้ใบตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผลที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ แผลจะแห้ง นำใบมาตำให้ละเอียดผสมกับสุรา ใช้พอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก มีสรรพคุณดับพิษร้อนได้ดี
  • รักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ รักษาแผลร้อนในในปาก เริม งูสวัด ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด 10-20 ใบ (เลือกใบสีเขียวเข้มสดเป็นมันไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป)นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกแผล ใช้ใบเสลดพังพอน 1,000 กรัม หมักใน alcohol 70 % 1,000 ซีซี. หมักไว้ 7 วัน นำมากรองแล้วเอาไประเหยให้เหลือ 500 ซีซี. เติม glycerine pure ลงไปเท่ากับจำนวนที่ระเหยไป (500 ซีซี.) นำน้ำยาเสลดพังพอนกรีเซอรีนที่ได้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก ถอนพิษต่างๆ
  • ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้พอกบนศีรษะคนไข้ประมาณ 30 นาที อาการไข้และอาการปวดศีรษะจะหายไป
  • ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ แล้วทำให้โรคกำเริบ) ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง
  • ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วจึงคายกากทิ้ง
  • แก้คางทูม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป และอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที
  • ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น
  • รักษาอาการเนื่องจากแมลงกัดต่อย และเริมตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น  ให้ใช้ใบขยี้ทาบริเวณที่ถูกแมลง สัตว์ กัดต่อย หรือเป็นเริมและสำหรับครีม ที่มีสารสกัดพญายอร้อยละ 4 – 5   และสารละลาย (สำหรับป้ายปาก) ที่มีสารสกัดพญายอในกลีเซอรีนร้อยละ 2.5 – 4 รวมถึงโลชัน ที่มีสารสกัดพญายอร้อยละ 1.25  ให้ใช้  ทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 5 ครั้ง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบของพญายอประกอบด้วยสาร Lupeol, β-Sitosterol, Stigmasterol, และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยสารละลายบิวทานอล (Butanol) จากใบพญายอสามารถระงับอาการอักเสบได้ และศึกษาว่าสารสำคัญชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์คือสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Piper betle L.

ชื่อวงศ์                : Piperaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

ไม้เถาเนื้อแข็ง รากฝอยออกบริเวณข้อใช้ยึดเกาะ ข้อโป่งนูน ใบ  เดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 8-12 ซม. ยาว 12-16 ซม. มีกลิ่นเฉพาะและมีรสเผ็ด ดอก  ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กอัดแน่นเป็นรูปทรงกระบอก แยกเพศ สีขาว ผล  เป็นผลสด กลมเล็กเบียดอยู่บนแกน พลูมีหลายพันธุ์ เช่นพลูเหลือง พลูทองหลาง

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ด เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ขับลม ตามชนบท ใช้ตำกับเหล้า ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ คนแก่ใช้ทาปูนแดงรับประทานกับหมาก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้ใบสด 3-5 กรัม ต้มน้ำกินสำหรับแก้อาการปวดท้อง แก้ลมพิษ ให้ใช้ใบสดตำผสมเหล้าทาบริเวณที่เป็น ใช้เคี้ยวแล้วคายทิ้งวันละ 2-3 ครั้ง ช่วยดับกลิ่นปาก  แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อและบำรุงกระเพาหาร ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำร้อนหนึ่งแก้วใช้ดื่ม  ลดปวดบวม ใช้ใบพลู ใบใหญ่ ๆ นำไปอังไฟให้ร้อนใช้ไปประคบบริเวณที่ปวดบวมช้ำ  รักษากลากและฮ่องกงฟุต เอาใบสดโขลกให้ละเอียดดองกับเหล้าขาวทิ้งไว้ 15 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ประกอบด้วย chavicol, chavibitol, cineol, eugenol, carvacrol, caryophyllene, β-sitosterol, และอื่นๆ สารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้ปลายประสาชา แก้อาการคันได้ เนื่องจากไม่มีการรายงานการศึกษาฤทธิ์แก้แพ้ แก้อักเสบ จากสารประกอบ อาจเป็นสารพวก β-sitosterol ที่ช่วยลดอาการอักเสบ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Zingiber cassumunar Roxb.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าแก่จัด

ลักษณะภายนอก :

เหง้ามีเปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว เหง้าสดฉ่ำน้ำ รสฝาด ขื่น เอียน ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ เหง้าไพลแก่สด และแห้ง  มีรสเผ็ดเล็กน้อย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เหง้าแก่มีรสเผ็ดเล็กน้อย สรรพคุณแก้ฟกบวมเคล็ดขัดยอกขับลม ท้องเดินและช่วยขับระดูประจำเดือนสตรี นิยมใช้เป็นยาหลังคลอดบุตร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง

ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ดขัดยอก หรือใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อย และบวมฟกช้ำ เช้า-เย็นจนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพลหนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่ผงกานพลูประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใสการบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ในภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูร ให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของนายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา)

ครีมที่มีน้ำมันไพล 14% ใช้ทาและถูเบาๆบริเวณที่มีอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก วันละ 2-3 ครั้ง

รักษาโรคผิวหนังผื่นคัน เหง้าบดทำเป็นผงผสมน้ำหรือเหง้าสดล้างให้สะอาด ฝนน้ำทา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          เหง้าไพลมีน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) 0.8% ปัจจุบันมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทราบสูตรโคตรสร้างของสารประกอบในไพลกว่า 20 ชนิด การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่าสารประกอบ Terpene หลายชนิดจากไพลมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ (anti-inflamatory) และมีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ยาครีมไพลมีฤทธิ์ในการลดอาการบวมในสัตว์ทดลองเช่นกัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Piper nigrum L.

ชื่อวงศ์                : Piperaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุด นำมาตากแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ผลรูปกลม ผลแห้งมีผิวสีดำ ผิวนอกหยาบ มีรอยย่น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4-6 มม. เปลือกนอกสีน้ำตาลเข้มออกดำ มีรอยย่นคล้ายร่างแห ที่ขั้วมีรอยก้านผล เปลือกผลชั้นนอกและชั้นกลางลอกออกง่าย เปลือกชั้นในบางและค่อนข้างแข็ง 1 ผลมี 1 เมล็ด ผงพริกไทยดำมีสีน้ำตาล-ดำ กลิ่นฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย ทางยานิยมใช้พริกไทยดำมากกว่าพริกไทยล่อน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม รักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน แก้ลม จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในกระเพาะ ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ปวดฟัน แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แก้หวัด ทำให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้น้ำย่อยหลั่งมากขึ้น ทำให้อยากอาหาร แก้อ่อนเพลีย กษัยกร่อนแห้ง  แก้บิด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตะคริว แผลปวดเพราะสุนัขกัด ฝี สะอึก ห้ามเลือด ยาหลังคลอดบุตร ปวดศีรษะ แก้อาหารเป็นพิษ ตำรายาอินเดีย ใช้กลั้วคอ แก้เจ็บคอ ลดไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ลดอาการท้องอืดเฟ้อ  แน่นจุกเสียดและช่วยขับลม  ใช้ผลบดเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน  รับประทานครั้งละ  0.5-1  กรัม (ประมาณ 15-20 เมล็ด) หรือ จะใช้ผงชงน้ำดื่ม รับประทาน  3  เวลาหลังอาหาร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

พริกไทยดำมีน้ำมันหอมระเหย ร้อยละ 2-4 มีสารแอลคาลอย์เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น Piperine, Piperidine, Piperittine, Piperyline, Piperolein A, B เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cucurbita moschata Duchesne

ชื่อวงศ์                : Cucurbitaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลและเมล็ด

ลักษณะภายนอก :

ไม้เถาล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามดินและต้องการหลักยึด ลำต้นมีขนนุ่ม ปกคลุม แข็งปานกลาง ลักษณะกลมหรือเหลี่ยมมนๆ 5 เหลียม สีเขียว และมีมือเอาไว้เกาะ 3 – 4 แขนง ผลเป็นผลเดี่ยวตามซอกใบ ก้านผลมีลักษณะเป็น 5 เหลี่ยม เปลือกนอกของผลแข็ง ผลมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ตลอดจนสีสันและรสชาติซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ ลักษณะผลเป็นพูเล็กๆ ตลอดโดยรอบ บ้างก็มีรูปร่างกลมแป้น รูปแจกัน หรือรูปถ้วย สีของผลมีตั้งแต่ สีเขียวอ่อน สีเหลืองเข้ม สีเขียวเข้มอมน้ำเงินหรืออมเทา อาจด่างเหลืองเป็นทาง หรือแต้มเป็นจุดกระจายทั่วไป เนื้อในผลมีสีเหลือง สีเหลืองอมเขียวหรือสีส้ม ตรงกลางผลฟูพรุนมีเมล็ดติดอยู่จำนวนมาก ลักษณะแบน ขอบแข็งเป็นสัน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสมันเมา เนื้อเมล็ดสดรับประทานเป็นยาขับพยาธิตัวตืดและไส้เดือนได้อย่างปลอดภัย ขับปัสสาวะ และบำรุงร่างกาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ขับพยาธิใช้เมล็ดฟักทองประมาณ60 กรัม ทุบให้แตก นำมาผสมกับน้ำตาลและนม หรือน้ำที่เติมลงไปจนได้ปริมาณ500 มิลลิลิตร แบ่งกิน 3 ครั้ง ห่างกันทุก 2 ชั่วโมง หลังให้ยาแล้ว 2 ชั่วโมง ให้รับประทานน้ำมันละหุ่งระบายตามเพื่อขับพยาธิที่ตายออก
  • ขับพยาธิตัวตืดใช้เมล็ดฟักทอง200 เม็ด (ไม่ควรเกิน 150 กรัม) ตากแห้งหรือคั่วสุกกิน หรือใช้เมล็ดฟักทอง 30-60 กรัม ตำให้ละเอียดต้มกับน้ำเชื่อม (ให้เว้นการกินน้ำมัน 1 วัน) หรือใช้เมล็ดฟักทองสด 60 กรัม ตำให้ละเอียดผสมน้ำอุ่นแล้วคนให้เข้ากันจนคล้ายนม จะเติมน้ำตาล หรือน้ำผึ้งลงไปพอหวานก็ได้ (สำหรับเด็กลดลงครึ่งหนึ่ง)
  • ขับพยาธิเข็มหมุดใช้เมล็ดฟักทองบดเป็นผง กินวันละ 2 ครั้ง ๆละ 1 ช้อนโต๊ะ ติดต่อกัน 5-6 วัน
  • แก้อาการฟกช้ำและอาการปวดอักเสบโดยใช้เยื่อกลางของฟักทองมาพอกบริเวณที่เป็น

ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย และถอนพิษของฝิ่น โดยใช้รากฟักทองนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เมล็ดฟักทองมีสารเคมีประกอบอยู่หลายชนิด ไขมันมีปริมาณ 40% และมีแป้ง โปรตีนด้วย จากรายงานพบว่าเมล็ดฟักทองฆ่าพยาธิตัวตืดได้ และมีการทดลองกับคนไข้ที่เป็นพยาธิ schis tosoma โดยรับประทานเมล็ดฟักทองคนละ 80 กรัม พบว่าฆ่าพยาธิได้ทันที

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Andropraphis paniculata (Burm.f.) Wall. Ex Nees

ชื่อวงศ์                : Acanthaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบและลำต้น

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ก้านใบยาว 3-10 มิลลิเมตร แผ่นใบรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-12 เซนติเมตร โคนใบแหลม ปลายใบแหลมมาก ขอบใบหยักตื้นหรือเรียบ ผิวด้านบนสีเข้มกว่าด้านใต้ใบ ผงสมุนไพรส่วนเหนือดิน มีสีเขียวเข้ม มีกลิ่นเฉพาะ รสขมจัด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขมจัด รักษาไข้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ดับพิษร้อน ระงับอักเสบในอาการไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ขับเสมหะ ลดบวม แก้บิด แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ รักษาโรคผิวหนัง ฝี การติดเชื้อ ที่ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด ทำให้เจริญอาหาร

แก้ปวดและอักเสบ แผลไฟไหม้ ใช้เนื้อฟักทองตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่โดนไฟไหม้ ถ้าปวดมากให้ใส่เกร็ดพิมเสนลงไปด้วย หรือใช้ไส้ฟักทองตำให้ละเอียด พอกบริเวณแผล หรือตากแห้งบดเป็นผงโรยบริเวณแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • บรรเทาอาการเจ็บคอ / บรรเทาอาการของโรคหวัด(common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ขนาดยาที่ใช้  1. รับประทานครั้งละ 1.5 – 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน  (ใช้ผงจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญ total lactone โดยคำนวณเป็น andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก (w/w) และปริมาณ andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w)

  • รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 60 – 120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง   (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)

ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้

– ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A

– ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A

– ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค

– ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง และหนาวสั่น    (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)

 

  • รักษาโรคโควิด 19 (severe acute respiratory syndrome corona virus-2 (SARS-CoV-2) ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลานาน 5 วัน  (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, ฉบับที่ 2, 2564)  โดยยามีผลลดจำนวนไวรัสที่เข้าเซลล์แล้ว แต่ไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์
  • บรรเทาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อเช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน

รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (ใช้ผงจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร ที่มีสารสำคัญ total lactone โดยคำนวณเป็น andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก (w/w) และปริมาณ andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (w/w)   (บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร, 2563)

  •           ใช้ใบสดตำพอกฝี หรือคั้นทำน้ำทาแผลพุพองบ่อย ๆถ้าใช้พอกฝี  เปลี่ยนยาเช้า – เย็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบฟ้าทะลายโจรมีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ สารกลุ่ม Lactone คือ andrographolidem, deoxy-andrographolide, neoandrographolide, dehydroandrographolide เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Diospyros mollis Griff.

ชื่อวงศ์                : Ebenaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลดิบสด

ลักษณะภายนอก :

ไม้ต้น ที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 – 25 เมตร กิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป เปลือกต้นสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ หรือเป็นร่องทั่วลำต้น เปลือกในสีเหลือง กะพี้สีขาว ถ้าทิ้งไว้นานจะเปลื่ยนเป็นสีค่อนข้างดำ ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผิวของผลเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีเปลือกเป็นสีเขียว ผลแก่จัดแห้ง เปลือกเปราะและออกสีดำสนิท กลีบจุกผลมี 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่ง มีขนนุ่มทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบพับกลับ ขอบและพื้นกลีบเรียบ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเมาเบื่อ เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน แก้พิษตานซาง ถ่ายพยาธิตัวตืด ถ่ายพยาธิเส้นด้าย ถ่ายพยาธิทุกชนิด แก้ไอ แก้น้ำกัดเท้า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ใช้ถ่ายพยาธิ โดยใช้ผลสดโตเต็มที่และเขียวจัด จำนวนผลเท่าอายุแต่ไม่เกิน 25 ผล (คนไข้อายุ 40 ปี ใช้เพียง 25 ผล) ตำหรือคั้นเอาน้ำใส่กะทิ ช่วยกลบรสเฝื่อนแล้ว รับประทานขณะท้องว่างทันทีห้ามตั้งทิ้งเอาไว้ เพราะจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งจะมีพิษ ถ้า 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถ่ายใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำดื่มตามลงไป ใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าว รับประทานแก้อาเจียน แก้ลม หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย รากหรือเปลือก ลำต้นใช้ต้มกับน้ำอาบช่วยรักษาโรคดีซ่าน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผลดิบจะมี diospyrol diglucoside ชื่อว่า tetrahydroxy dimethylbinapthalene เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ไม่ดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ พยาธิกินสารนี้แล้วทำให้พยาธิตายได้ สารนี้เมื่อถูก oxidize ในสารละลายที่เป็นด่าง จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบสีดำ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของสาร diospyrol เห็นว่ามีส่วนคล้ายกับสาร alpha และ beta napthol ซึ่งมีพิษต่อประสาทตา ดังนั้นการใช้มะเกลือจึงควรระมัดระวังอย่าใช้ผิดวิธีการที่แนะนำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Tamarindus indica L.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เนื้อฝักแก่ เนื้อเม็ดมะขามแก่

ลักษณะภายนอก :

ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 – 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ลำต้นและกิ่งเหนียว ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนและแตกสะเก็ดเป็นร่องเล็กๆ เปลือกต้นด้านในมีสีแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลเข้ม กระพี้สีขาว ผล เมื่อดอกร่วงแล้วก็จะติดผลเป็นฝักกลม แบนเล็กน้อย คอดเป็นข้อตามเมล็ด และมีก้าน เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ข้างในผลมีเนื้อเยื่อ แรกๆ เป็นสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่จัด ซึ่งจะหุ้มเมล็ดอยู่

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เนื้อฝักแก่ รสเปรี้ยว เป็นยาระบาย แก้ท้องผูก ขับเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ ฟอกโลหิตสตรีหลังคลอด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

แก้ร้อน จากอากาศร้อน เบื่ออาหาร แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก เด็กเป็นตานขโมย ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 15-30 กรัม ผสมน้ำ คั้นแล้วอุ่นให้กิน แก้พิษสุรา ขับเสมหะ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 3 กรัม ผสมน้ำตาลทรายกิน  แก้ไข้ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดแช่น้ำ ผสมน้ำตาลให้มีรสหวาน ใช้ดื่มแก้กระหายช่วยลดความร้อน ใช้เป็นยาระบาย กินเนื้อหุ้มเมล็ด แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ใช้ใบต้มน้ำอาบ หลังคลอดและหลังฟื้นใช้ ทำให้สดชื่น หรือใช้อบไอน้ำ แก้หวัด คัดจมูก ขับเสมหะ แก้ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ใช้เปลือกต้นผสมเกลือ เผาในหม้อดินจนเป็นเถ้าขาว กินครั้งละ 60-120 มก. และยังใช้เถ้านี้ผสมน้ำอมบ้วนปากกลั้วคอ แก้คอเจ็บและปากเจ็บได้อีกด้วย หรืออาจใช้เนื้อหุ้มเมล็ดกินครั้งละ 15 กรัม ช่วยย่อยอาหาร  หรือ ใช้เนื้อมะขามรักษาอาการท้องผูก  สามารถทำได้ 3 วิธี คือใช้เนื้อจากฝักละลายน้ำแล้วผสมเกลือสวนเข้าทางทวาร หรือใช้เนื้อจากฝักผสมเกลือรับประทาน หรือ เอาเนื้อจากฝักผสมเกลือเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ใช้เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแดงเป็นมัน 600 มก. เทียนขาว(Cumin) อย่างละเท่า ๆ กัน ผสมน้ำตาล ต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำดี ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด กินครั้งละ 10-60 กรัม เปลือกต้น ใช้ต้มกับน้ำ (จะมีแทนนินออกมา) ใช้เป็นยาสมานฝี แผล กันอักเสบ แก้ท้องร่วงและอาเจียนและใช้แก้โรคหืด ช่วยถ่ายพยาธิตัวกลมในลำไส้ พยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้เมล็ดมะขามมาคั่ว กะเทาะเปลือกออก นำเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำเกลือจนนิ่ม แล้วรับประทานครั้งละ 20 เม็ด เครื่องดื่มชนิดหนึ่งชื่อ “เชอร์เบต” (sherbet) ซึ่งผสมโดยต้มเนื้อมะขาม 30 กรัม ในนม 1 ลิตร เติมลูกเกด 2-3 ลูก กานพลู กระวานและการบูรเล็กน้อย ใช้ดื่มแก้ไข้และอาการอักเสบต่าง ๆ เป็นต้นว่า เป็นไข้ อาหารไม่ย่อย อาการผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ท้องเสีย และใช้แก้ลมแดดได้ดี ส่วน น้ำชงจากเนื้อมะขาม เตรียมโดยแช่เนื้อมะขามในน้ำ แล้วรินออกมากิน แก้อาการเบื่ออาหาร (ประสิทธิภาพของยาชง จะเพิ่มขึ้นอีก โดยการเติมพริกไทยดำ น้ำตาล กานพลู กระวานและการบูร ช่วยเพิ่มรส) และในระยะฟื้นไข้ ก็ให้กินเนื้อหุ้มเมล็ดกับนม เนื้อหุ้มเมล็ดอุ่นให้ร้อนใช้พอกแก้บวมอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดผสมเกลือให้เป็นครีมใช้ถูนวดในโรครูห์มาติสซั่ม น้ำมะขามใช้อมบ้วนปากกลั้วคอแก้เจ็บคอ กระเพาะอาหารอักเสบ  นำมะขามเปียกไปแช่น้ำ ลอกเอาใยออก นำมะขามมาถูตัวเบาๆ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นตลอดทั้งวัน มะขามเปียกและดินสอพองผสมจนเข้ากัน นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยให้ผิวหน้าดูกระชับสดใสและสะอาดยิ่งขึ้น  มะขามเปียกผสมกับน้ำอุ่นและนมสด ใช้พอกผิว ช่วยให้ผิวหนังที่มีรอยดำคล้ำกลับมาขาวสดใส

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เนื้อในฝักมะขามที่แก่จัด เรียกมะขามเปียก มะขามที่ใช้เป็นยาใช้มะขามชนิดรสเปรี้ยว เพราะมีกรดอินทรีย์ (Organic acid) ประกอบด้วยหลายตัว เช่น กรดทาร์ทาร์ริค (Tartaric acid) กรดซิตริค (Citric acid) เป็นต้น ทำให้มีฤทธิ์ระบายลดความร้อนของร่างกาย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cassia acutifolia Del.

ชื่อวงศ์                : Caesalpiniaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบแห้งและฝักแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. angustifolia มีสีเขียวอมน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปวงรี หรือรูปใบหอก กว้าง 1.0-1.5 ซม.ยาว 2.5-5.0 ซม. มีขอบใบเรียบ ปลายและโคนใบแหลม โคนใบทั้งสองไม่เท่ากัน และมีขนนุ่มปกคลุม ส่วนใบแห้งของมะขามแขกชนิด C. acutifolia มีรูปร่างป้อมและสั้นกว่าชนิดแรก โดยยาวไม่เกิน 4 ซม. และมักพบใบหักมากกว่าชนิดแรก ใบมะขามแขก มีกลิ่นเหม็นเขียว รสเปรี้ยว หวาน ชุ่ม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสเปรี้ยวหวานชุ่ม ใบและฝักใช้เป็นยาระบายท้อง แก้ท้องผูก ขับลมในลำไส้ ทำให้อาเจียน ถ่ายพิษอุจจาระเป็นมูก ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายพิษไข้ ถ่ายโรคบุรุษ ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร ใบทำให้ไซ้ท้องมากกว่าฝัก ควรใช้ร่วมกับตัวยาขับลม เช่นกระวาน หรือกานพลู เป็นต้น เหมาะกับคนที่กำลังน้อย หรือเด็ก และคนที่เป็นริดสีดวงทวาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้แก้อาการท้องผูกใช้ ใบแห้งวันละ 3-10 กรัม (1-2 กำมือ) ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำจำนวนพอเหมาะ ดื่มก่อนนอน
  • ถ่ายพยาธิ ใบมะขามแขกหนัก 2 กรัม หรือ 2 หยิบมือ หรือใช้ฝัก 10-15 ฝัก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที ใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อกลบรสเฝื่อน รับประทานครั้งเดียว หรือ ใช้วิธีบดใบแห้ง เป็นผงชงน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขโดย ต้มรวมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู อบเชย) เพื่อแต่งรสและบรรเทาอาการไซ้ท้อง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

สารประกอบทางเคมีที่สำคัญในใบและฝักมะขามแขก คือแอนทราควิโนน (antraquinone) ซึ่งประกอบด้วยสาร sennoside A, B, C, และ D, emodin, rhein เป็นต้น มะขามแขกเป็นยาถ่ายที่มีประวัตินานเกือบ 100 ปี สารแอนทราควิโนนจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายท้องได้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Phyllanthus emblica L.

ชื่อวงศ์                : Euphorbiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลสด

ลักษณะภายนอก :

ผลสดกลม มีเนื้อ ผิวเรียบ ใส ฉ่ำน้ำ เมื่อดิบสีเขียวออกเหลือง ผลสุกสีเหลืองออกน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีเส้นพาดตามความยาวของลูก 6 เส้น เมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด เนื้อผลมีรสฝาด เปรี้ยว ขม หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ทำให้ชุ่มคอ รับประทานน้ำตามไป ทำให้มีรสหวานดีขึ้น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ผลสดมีรสเปรี้ยวอมฝาดเป็นยาบำรุง ทำให้ สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด กระตุ้นน้ำลาย ละลายเสมหะ ช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้คอแห้ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้

  • ใช้เนื้อผลสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือเคี้ยว วันละ 3-4 ครั้ง
  • ผลสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน
  • ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผลมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก และมีรายงานการวิจัยทางคลินิกว่ามะขามป้อมสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Sapindus rarak DC.

ชื่อวงศ์                : Sapindaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่

ลักษณะภายนอก :

ผลแก่จะแห้ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5-2 ซม. ผิวของผลย่น เปลือกแห้งสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมี 3 พู ส่วนใหญ่จะฝ่อไป 1 หรือ 2 พู เนื้อเหนียว ใส สีน้ำตาล เมล็ดกลมสีดำ  เป็นมันเนื้อผลมีรสขมหวาน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขมผล ต้มเอาน้ำชโลมผม แก้ชันนะตุ(โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) แก้เชื้อรา แก้รังแค แต่ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป ระวังอย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ ต้มเอาฟองสุมหัวเด็กแก้หวัด คัดจมูก แช่น้ำล้างหน้า รักษาผิว ตำรายาแผนโบราณใช้ผล รสขม ดับพิษต่างๆ บำรุงน้ำดี แก้กาฬภายใน สุมเป็นถ่าน ทำยากินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ปรุงยาแก้พิษร้อน พิษไข้ แก้ไข้เซื่องซึม พิษตานซาง ใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ กินแก้หอบเนื่องจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้เสลด สุมฝีอันเปื่อยพัง แก้จุดกาฬ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาชันตุ

ใช้ผล 4-5 ผล แกะเอาแต่เนื้อ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย ใช้น้ำทาที่ศีรษะที่เป็นชันตุวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือใช้เนื้อ 1 ผล ตีกับน้ำสะอาดจนเป็นฟอง ใช้สระผมที่เป็นชันตุวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย

  • รักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย

ใช้ผล 10-15 ผล ต้มกับน้ำพอประมาณ นำเฉพาะน้ำมาชะล้าง หรือแช่บริเวณที่เป็นแผลนาน 5 นาที ทั้งเวลาเช้าและเย็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          สารเคมีในลูกมะคำดีความ คือ Saponin, Emarginatonede, O-Methyl-Saponin เป็นต้น ส่วนสรรพคุณแก้ชันนะตุ คาดว่าเกิดจากสาร Saponin

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle

ชื่อวงศ์                : Rutaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกและผล

ลักษณะภายนอก :

ผลกลม สด ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-5 ซม. เปลือกบาง เรียบ สีเขียวเป็นมัน  มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไปที่ผิวผล  เมื่อสุกสีเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นห้องแบบรัศมีมีถุงเป็นเยื่อบาง ๆ รูปยาวเรียวขนาดเล็กจำนวนมาก ภายในมีน้ำรสเปรี้ยวบรรจุอยู่ เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด น้ำจากผลมะนาวที่โตเต็มที่  มีรสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีรสขม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

น้ำมะนาว รสเปรี้ยว คั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เลือดออกตามไรฟัน และถ่ายพยาธิ ผสมเกลือและน้ำตาลทรายแดง จิบแก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ล้างเสมหะในคอ กัดเถาดานในท้อง ฟอกโลหิต ใช้เป็นน้ำกระสายผสมยากวาดคอเด็ก แก้ไข้หวัด เปลือกผล รสขมหอม เปลือกผลแห้งต้มเอาน้ำดื่ม แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาหารเป็นพิษ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ แก้ลมวิงเวียน แก้เหน็บชา แก้ตาแดง แก้นิ่ว บำรุงผิว แก้สิวฝ้า แก้ส้นเท้าแตก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้กลากเกลื้อน หิด แก้หูด แก้พุพอง แก้น้ำกัดเท้า แก้ปูนซีเมนต์กัด แก้บาดทะยัก แก้เล็บขบ แก้ปลาดุกยัก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • อาการไอ ระคายคอจากเสมหะ

ใช้น้ำจากผลที่โตเต็มที่  เติมเกลือเล็กน้อย  จิบบ่อย ๆ หรือ จะทำน้ำมะนาวเติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย

  • อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

ใช้เปลือกผลสด 1/2-1 ผล ฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำขณะมีอาการ หรือหลังอาหาร 3 เวลา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

น้ำจากผลมีกรด citric acid, malic acid, ascorbic acid,  ผิวมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยที่มาจากการกลั่นผิวผล ร้อยละ 0.3-0.4 ประกอบด้วยสารต่าง ๆ ได้แก่  d-limonene (42-64%), alpha-berpineol (6.81%), bergamotene ผสมกับ terpinen-4-ol (3%),  alpha-pinene (1.69%), geraniol (0.31%), linalool, terpineol, camphene, bergapten (furanocoumarin) เมล็ดมะนาว พบองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside, limonin glucoside

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cocos nucifera L.

ชื่อวงศ์                : Arecaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : น้ำมันมะพร้าว

ลักษณะภายนอก :

หมากหรือปาล์ม ลำต้นส่วนมากตั้งตรงสูงชะลูดประมาณ 20 – 30 เมตร มีรอยเป็นปล้องถี่ตลอดลำต้น ลักษณะกลม เปลือกต้นแข็งสีเทา ขรุขระ ไม่มีกิ่งก้านสาขา ซึ่งช่วงแรกจะเจริญเติบโตในทางกว้างหรือหนาจนได้ขนาดแล้วจึงขยายทางด้านความสูง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกันบนก้าน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบแคบยาวมีสีเขียว เส้นกางใบเป็นก้านแข็ง เส้นใบขนานตามยาวของแผ่นใบ ก้านใบหรือทางมะพร้าวจะเกิดที่ยอด ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกช่อตามบริเวณกาบที่หุ้ม ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ ดอกย่อยมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี มีกลีบดอกรวมสองชั้นๆ ละ 3 กลีบ มีสีขาวนวล ช่อดอกมะพร้าวเรียกว่า จั่น และถ้ามีกาบหุ้มเรียกว่า งวงมะพร้าว ผล เป็นผลเดี่ยวเมล็ดเดียว แข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลมโต มีเปลือกผลเป็นเส้นใยหนา ผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เป็นมันมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ออกผลเป็นพวงเรียกว่า ทะลาย เมล็ด กลมมีเอนโดสเปิร์ม (endosperm : อาหารสำหรับเลี้ยงต้นอ่อน) มีเปลือกแข็งเรียกกว่า กะลา มีเนื้อในสีขาวอยู่ในกะลา ภายในเมล็ดจะกลวง เมื่อผลยังอ่อนจะมีน้ำมะพร้าวเต็ม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสมัน ทาแก้ปวดเมื่อยและขัดตามเส้นเอ็น เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  1. ใช้ขับพยาธิตัวตืด หรือพยาธิใบไม้ในลำไส้ โดยให้กินเนื้อมะพร้าวครึ่งลูก ทุกเช้า ตอนท้องว่าง หลังจากนั้น 3 ชั่วโมงค่อยกินอาหาร
  2. แก้กลาก โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเคี่ยวให้ร้อน ทิ้งไว้ให้พออุ่น ทาบริเวณที่เป็นวันละหลายๆครั้ง หรือใช้ถ่านกะลาที่เผาจากกะลามะพร้าวนำไปบดผสมน้ำนิดหน่อยทาก็ได้
  3. แก้เลือดกำเดาออก ใช้เปลือกต้นมะพร้าวจำนวนพอควรต้มกินน้ำ
  4. รักษาโรคเบาหวาน ใช้เนื้อมะพร้าวมาคั่วให้เหลือง โรยเกลือเล็กน้อย แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 10 วัน
  5. แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้รากมะพร้าวทุบให้แตก 3 กำมือ ต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น
  6. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้กะลามะพร้าวมาเผาไฟจะได้เป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
  7. แก้ปากเจ็บ โดยการนำรากมะพร้าวมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก เช้า กลางวัน เย็น
  8. แก้กระหายช่วยแก้พิษ ขับปัสสาวะ ลดบวม
  9. แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้นิ่ว ให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนวันละ 2-3 แก้ว

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Momordica charantia L.

ชื่อวงศ์                : Cucurbitaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เนื้อผลอ่อน เก็บลูกมะระขี้นกเมื่อลูกยังเป็นสีเขียว

ลักษณะภายนอก :

ผล เป็นผลเดี่ยว ลักษณะผลป้อมเล็กรูปกระสวยหรือรูปรี ผิวภายนอกผลขรุขระเป็นคลื่นทั่วทั้งผล โคนและปลายแหลม ผลอ่อนสีเขียวสด เมื่อสุกจะสีส้มหรือสีเหลืองอมแดงและผลนั้นก็จะแตกที่ปลายแยกออกเป็น 3 ส่วน

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เนื้อผลมีรสขม สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคของม้ามและตับ ขับพยาธิ น้ำคั้นจากผลมะระเป็นยาระบายอ่อนๆ อมแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ผลสด 6 – 15 กรัมต้มรับประทาน หรือผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้แก้ร้อน ร้อนในกระหายน้ำทำให้ตาสว่าง แก้บิด ตาบวมแดง หรือใช้ตำพอกแก้แผลบวมเป็นหนอง ฝีอักเสบ
  • เมล็ดแห้ง 3 กรัม ต้มน้ำดื่ม เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
  • ใบสด 30 – 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะ ขับพยาธิหรือใช้ใบสด คั้นเอานำทาหรือต้มเอาน้ำชะล้าง แก้ แผล ฝี บวมอักเสบ
  • รากสด 30 – 60 กรัมต้มเอาน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดถ่ายเป็นเลือด หรือใช้ชะล้างแก้แผลฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน
  • เถาแห้ง 3 – 12 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิด หรือใช้ชะล้างแก้ฝีอักเสบ ปวดฟัน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผลอ่อนของมะระมีวิตามินซีสูงมาก และมีสารรสขม จากการ ทดลองพบว่าน้ำคั้นจากผลมะระทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Solanum trilobatum L.

ชื่อวงศ์                : Solanaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่สด

ลักษณะภายนอก :

ผลรูปทรงกลม (ผลสดเมื่อดิบสีเขียวมีลายสีขาว เมื่อสุกสีแดง) ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยงเป็น เมล็ดแบน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ผลรสขมขื่นเปรี้ยว ผลสดตำผสมเกลือเล็กน้อย อมหรือจิบแก้ไอแก้เจ็บคอ ขับเสมหะ ผลแห้งปรุงยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ ทำให้เจริญอาหาร แก้เบาหวาน บำรุงน้ำดี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ใบมะแว้งเครือมีสาร Tomatid-5-en-3-ß-ol, ส่วนดอกมะแว้งเครือมีสาร Alkaloids, Cellulose, Pectins Unidentified organic acid Lignins, Unidentified saponins, และผลมะแว้งเครือมีสาร Enzyme oxidase, Vitamin A ค่อนข้างสูง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Solanum indicum L.

ชื่อวงศ์                : Solanaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลแก่สด

ลักษณะภายนอก :

ผลรูปกลม (ผลสดเมื่อดิบสีเขียวอ่อน ไม่มีลาย เมื่อสุกสีส้ม) ผิวเรียบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดรูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก จำนวนมาก

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ผลมีรสขมเปรี้ยว เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้ผลเป็นยาแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้น้ำลายเหนียว ช่วยแก้คอแห้ง โดยใช้ได้ทั้งผลแห้งและผลสดประมาณ 5-10 ผล นำมาตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมารับประทาน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ในผลและรากของมะแว้งต้นพบสาร soanguivine, protodioscin, solasonine และ solamargine และสารพวก steroidal glycosides ได้แก่ indiosides A-E (A,B ได้มาจากผลของต้น)

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Artocarpus lakoocha Roxb.

ชื่อวงศ์                : Moraceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : แก่นต้นมะหาด

ลักษณะภายนอก :

ปวกหาดได้จากแก่นมะหาดนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจะมีฟองเกิดขึ้น ช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลืองเรียกว่า “ผงปวกหาด”

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

แก่นมะหาดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร ช่วยแก่ตานขโมย ใช้ผงปวกหาดเป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด โดยใช้ผงปวกหาดในขนาด 3-5 กรัม นำมาละลายหรือผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้วดื่มตอนเช้ามืดก่อนอาหารเช่า (หรือจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วยก็ได้) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่ว ให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ) ก็จะช่วยขับพยาธิออกมา วิธีนี้ใช้กับเด็กได้ดี แต่เวลาปรุงยาควรใส่ลูกกระวานหรือลูกจันทน์เทศด้วยเพื่อแก้อาการไซร้ท้อง สำหรับเด็กให้ใช้ผงปวกหาดเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานเพียงครั้งเดียว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ผงมะหาด เตรียมได้โดยการเอา แก่นมะหาดมาต้มเคี่ยวด้วยน้ำไปนานจนเกิดฟองขึ้น แล้วช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลือง นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ขนาดรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา (ประมาณ 3-5 กรัม) รับประทานกับน้ำสุกเย็น ก่อนอาหารเช้า หลังจากรับประทานยาปวกหาดแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือ หรือยาถ่ายตาม เพื่อระบายท้อง จะช่วยให้ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือนออกหมด สำหรับเด็กให้ใช้ในขนาดครึ่งหนึ่ง หรือจะใช้ผงมะหาด 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานยาถ่ายตาม (ในผู้ใหญ่) สำหรับเด็ก ใช้ยาครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมงต่อมาจึงรบประทานยาถ่ายตามก็ได้
  • เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ช่วยขับพยาธิ หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในก็ได้ เช่นกัน ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคันต่างๆ หรือจะใช้แก่นมะหาดต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่ม แก้กษัย,เส้นเอ็นพิการ ขับโลหิต ขับปัสสาวะ แก้ประคบทุกชนิด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผงปวดหาดมีสารสำคัญชื่อ 2, 4, 3, 5 – tetrahydroxystibene จากการศึกษาวิจัยพบว่าสารนี้ได้ผลดีในการขับพยาธิตัวตืดทั้งในห้องทดลองและในคนป่วย บางคนที่ใช้มีอาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้ มีผื่นคันขึ้นตามตัว หน้าและผิวหนังสือแดงและคัน กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Garcinia mangostana L.

ชื่อวงศ์                : Guttiferae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เปลือกผลแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ผลกลมแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว พื้นผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เปลือกหนาแข็ง เมื่อแก่มีสีม่วงอมน้ำตาล ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แยกเป็น 4-7 แฉก ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบติดอยู่ บริเวณใต้ผิวผลมีต่อมของน้ำยางอยู่มาก เปลือกผล มีรสฝาด ยางจากผลมีสีเหลือง มีรสฝาด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสฝาด แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ในชนบทมักใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาอาการท้องเสีย

ใช้เปลือกผลแห้งครึ่งผล (4 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มแต่น้ำ หรือใช้เปลือกผลแห้งย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใส 1/2 แก้ว รับประทานทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง

  • ชะล้างบาดแผล

ใช้เปลือกผลสดหรือแห้ง 1-2 ผล สับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้เดือด ประมาณ 15 นาที เติมเกลือประมาณ 1 ช้อนชา ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง แผลมีหนอง หรือใช้เปลือกผลฝนแต้มทารักษาแผล

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เปลือกผลมีสารแทนนิน (tannin) 8.75-10.5% มีฤทธิ์แก้อาการ ท้องเดิน นอกจากนี้ในเปลือกผลยังมีสารเคมีอีกหลายชนิด จากการทดลอง พบว่ามีสารในเปลือกมังคุด มีฤทธิ์สมานแผล และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของหนองด้วย และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ocimum × africanum Lour.

ชื่อวงศ์                : Lamiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ดแมงลักแก่ เก็บเมล็ดแก่สีดำเพื่อใช้เป็นยา

ลักษณะภายนอก :

คล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่นและสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นชื่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อย ๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปากและร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านก่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดอกตรงกลางจะบานก่อนและช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เมล็ดแมงลักเมื่อแช่น้ำแล้วจะพองเป็นเยื่อขาวโตและเป็นเมือก เมื่อรับประทานจะทำให้ถ่ายอุจจาระสะดวก เพราะเมือกขาวทำให้ลื่น อุจจาระไม่เกาะลำไส้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ช่วยขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบายให้ นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
  • บรรเทาอาการหวัด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น
  • แก้ท้องร่วงท้องเสีย ใบแมงลัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก สามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้
  • ใช้ลดความอ้วน เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวและเพิ่ม จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้นและยังสามารถลดอาการท้องผูกด้วย
  • บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ รักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เมล็ดแมงลักประกอบด้วยสารประเภทคาร์โบไฮเดรทหลายชนิดและสารประกอบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น D-Arabinose, L-Arabinose, Camphene, Camphor, D-Galactose, D-Galacturonic acid, D-Gucose, D-Mannose, D-Mannuronic acid, Mucilages, Myrcene, Oil, pentosans Polysaccharide, L-Rhamnose, D-Xylose เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Morinda citrifolia L.

ชื่อวงศ์                : Rubiaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ผลดิบหรือผลห่ามสด

ลักษณะภายนอก :

ผลรูปกลม หรือรูปทรงกระบอกมน ขนาด 3-10 ซม. เชื่อมติดกันเป็นผลรวม ผิวไม่เรียบ มีตาเป็นตุ่มๆ รอบผล ผลสดแก่สีขาวอมเขียว หรือออกเหลือง เมื่อแก่จัดมีสีขาวและมีกลิ่นเหม็นฉุน ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก ผลโตเต็มที่  มีรสขมเล็กน้อย   เอียน  รสเผ็ดร้อน ปร่า

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ผลมีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ ขับผายลม บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ผสมในยาแก้สะอึก อมแก้เหงือกเปื่อย เหงือกบวม ขับระดูเสีย ขับเลือดลม ฟอกเลือด ขับน้ำคาวปลา แก้เสียงแหบแห้ง แก้ตัวเย็น แก้ร้อนในอก แก้กระษัย แก้อาเจียน  โดยนำมาหมกไฟหรือต้มกับน้ำกิน หรือนำมาจิ้มกับน้ำผึ้งทาน ตำราสรรพคุณยาไทยกล่าวว่าผลอ่อนกินเป็นยาแก้คลื่นเหียนอาเจียน ผลสุกงอมเป็นยาขับระดูสตรี ผลดิบเผาเป็นถ่านผสมเกลือเล็กน้อย อมแก้เหงือกเปื่อยเป็นขุมบวม หั่นปิ้งไฟพอเหลืองทำกระสายยา เมล็ดเป็นยาระบาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ

ใช้ผลดิบหรือห่าม(ยังไม่สุก) ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ  ย่าง  หรือคั่วไฟอ่อน ๆ ให้เหลือง  ใช้ครั้งละ  2  กำมือ  น้ำหนักประมาณ  10-15  กรัม  ต้มหรือชงน้ำดื่มจิบแต่น้ำบ่อย ๆ ขณะที่มีอาการ  ถ้าดื่มครั้งละมาก ๆ จะทำให้อาเจียน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ผลยอมีสารเคมี คือ Asperuloside, caproic acid, caprylic acid, และ glucose

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Amomum xanthioides Wall.

ชื่อวงศ์                : Zingiberaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ดแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ผลเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนอ่อนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ภายในมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10-20 เมล็ด จับกันเป็นกลุ่มก้อนกลม หรือกลมรี มี 3 พู เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและเป็นสันนูน สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวนอกเรียบมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นเด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดสีขาวอมเหลือง ผลมีรสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว เมล็ด รสร้อนเผ็ดปร่า

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ แก้ริดสีดวงทวารทั้ง 9 รักษาอาการขัดในทรวง บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องอืดเฟ้อจุกเสียด แก้ปวดท้อง แก้มุตกิดระดูขาว แก้หืดไอ แก้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี แก้โลหิตขึ้นเบื้องสูง แก้ไข้สันนิบาต ขับผายลม ทำให้เรอ เมล็ดเร่วใหญ่ รสร้อนเผ็ดปร่า ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับน้ำนมหลังคลอด แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ลดไขมันในเลือด ลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ แก้ริดสีดวง หืดไอ  ขับเสมหะ แก้ความดันโลหิตต่ำ แก้ไข้สันนิบาต

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด นำเมล็ดในจากผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ในเมล็ดเร่วมีน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมันมีสาร Borneol, Camphor, และ Geraneol เป็นต้น ไม่พบพิษเฉียบพลัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Quisqualis indica L.

ชื่อวงศ์                : Combretaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เมล็ด

ลักษณะภายนอก :

เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง เลื้อยพาดพันไปกับต้นไม้อื่น ยาวได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจเลื้อยไปได้ไกลมากกว่า 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เถาอ่อนเป็นสีเขียว ตามลำต้นและเถาอ่อนมีขนสีเหลือหรือสีน้ำตาลอมเทาปกคลุมอยู่ แต่ต้นแก่ผิวจะเกลี้ยง โดยเถาแก่เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนแดง เปลือกค่อนข้างเรียบ หรือมีหนามเล็กน้อย ผลเป็นผลแห้งและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลมีขนาดโตประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

เมล็ดมีรสชุ่ม เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน หากเป็นเด็กให้ใช้ 2-3 เม็ด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 5-7 เม็ด นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือใช้ทอดกับไข่กินก็ได้ ส่วนรากและผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือนเช่นกัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ช่วยขับพยาธิตัวกลม,พยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่และแห้ง 2-3 เมล็ด ( 4-5 กรัม) หั่นทอดกับไข่ให้เด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบรับประทานหรือบุบพอแตกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ส่วนผู้ใหญ่ ใช้ 5-7 เมล็ด (หนัก 10-15 กรัม) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำหรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้
  • ใช้แก้ตานซาง ตานขโมยในเด็กโดยใช้เมล็ดแห้ง 2-3 เมล็ด ทบให้แหลกแล้วผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนให้เด็กรับประทาน หรือนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นรากใช้ 6-10 กรัม
  • ใช้รักษาโรคผิวหนังให้ใช้เมล็ดแช่ในน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการ ใบสดใช้ตำพอกรักษาบาดแผล แก้ฝี แก้อักเสบ
  • ทั้งนี้ในการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พบว่า เมล็ด (ผล) เล็บมือนางมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิ คือ Quisqualic acid เมล็ดเล็บมือนางจึงถูกนำมาใช้ถ่ายพยาธิอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังนิยมใช้ในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

เมล็ดเล็บมือนางจะประกอบด้วยน้ำมันและสาร Quisqualic acid (เป็นกรดอะมิโน) และ D-Manitol พบว่าสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิคือ Quisqualic acid และยังมีรายงานฤทธิ์การขับถ่ายอย่างแรงของน้ำมันในเมล็ดเล็บมือนางอีกด้วย ในประเทศจีนใช้เมล็ดเล็บนางเป็นยาถ่ายพยาธิมานานโดยผสมเป็นยาตำรับถ่ายพยาธิ ในประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดจีนก็ใช้ เช่นกัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Gynura pseudochina (L.) DC.

ชื่อวงศ์                : Compositae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัวใต้ดิน

ลักษณะภายนอก :

ไม้ล้มลุก เลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ มีหัวอยู่ใต้ดิน รากเนื้อนิ่มอ่อน เปลือกรากเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อในเป็นสีขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

หัวมีรสเย็น ใช้กินเป็นยาดับพิษร้อน พิษกาฬ พิษอักเสบ พิษเซื่องซึม แก้ไข้ ระส่ำระสาย หรือกระสับกระส่าย ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกฝี ทำให้เย็น ถอนพิษ บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้กินดับพิษกาฬ พิษร้อน พิษไขเซื่องซึม กระสับกระส่าย รักษาอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ใช้พอกแก้ฝีและแผลพุพอง โดยใช้ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นหรือนำส่วนหัวใต้ดิน ล้างทำความสะอาด ตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นฝีและแผลพุพอง วันละ 3-4ครั้ง
  • ใช้รักษาเริมและงูสวัดโดยใช้ใบสด 5-6ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะทีสะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย หรือใช้ใบสด 5-6ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำที่ได้ทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้ ช่วยในการถอนพิษจากสัตว์ต่างๆ อาทิ แมงป่อง ตะขาบ ตัวต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ นำต้น หัวหรือใบสดมาบดประคบทาแผลบริเวณถูกต่อย หรือนำส่วนตากแห้งบดผสมน้ำประทาประคบแผล จะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำลายพิษได้
  • ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด นำต้น หัวหรือดอก ตากแห้งแล้วบด นำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่ม ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ปวดบวม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          พบสารสี่ชนิดในใบของว่านมหากาฬได้แก่

quercetin 3-rutinoside (1), 3,5-di-caffeoylquinic acid (2), 4,5-di-caffeoylquinic acid (3), และ

5-mono-caffeoylquinic acid (4)

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Aloe barbadensis Mill.

ชื่อวงศ์                : Aloaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : วุ้นจากใบ

ลักษณะภายนอก :

มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบหนาและยาว อวบน้ำ แผ่นใบมีสีเขียว มีจุดยาวสีขาวอ่อนออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีหนามแหลมเล็ก ๆ สีขาวอยู่ห่างกัน ข้างในใบเป็นวุ้นสีเขียวอ่อน ส่วนดอกว่านหางจระเข้ ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ดอกมีสีแดงอมสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น เป็นรูปแตร ส่วนผลว่านหางจระเข้ เป็นผลแห้งคล้ายรูปกระสวย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสจืดเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการตัดใบสดของว่านหางจระเข้แล้วทาปูนแดงด้านหนึ่ง แล้วเอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • บรรเทาอาการปวดศีรษะ ให้เลือกใบว่านหางจระเข้ที่อยู่ล่างสุด ใบสด 1 ใบ (เพราะมีตัวยามากกว่า) ฝานตามขวางใบ หนาประมาณ 1/4 ซม. ใช้ปูนแดงทาตรงเนื้อที่มีลักษณะคล้ายวุ้นสีขาวใสๆ แล้วเอาทางด้านปูนแดงปิดบนขมับ
  • รักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ถอนพิษ โดยปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้หมด ขูดเอาวุ้นใสออกมาทาพอกบริเวณแผลที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกให้ชุ่ม เปลี่ยนวุ้นทุกวันจนกว่าจะหาย ช่วยระงับความเจ็บปวดด้วยและป้องกันการติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
  • การเลือกใช้ใบจากต้นว่านหางจระเข้จะต้องมีอายุประมาณ 1 ขึ้นไป และใช้ใบข้างล่างสุดที่มีรูปล่างอ้วน อวบ เปล่ง อันเป็นใช้ได้
  • จากการวิจัยวุ้นของว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่ปลอกเปลือกโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ Aseptic technique เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ
  • ก่อนที่จะนำยางของว่านหางจระเข้มาใช้ในการรักษาแผลก็ควรจะล้างก่อน เพื่อป้องกันน้ำยางจากเปลือกมีสารแอนทราควิโนนที่ติดอยู่ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคันหรือแพ้ได้
  • เมื่อตัดต้นว่านหางจระเข้มาแล้วควรที่จะใช้โดยทันทีภายใน 6 ชั่วโมงเพราะจะมีคุณค่าทางยาที่ดีและจะได้คุณภาพที่สูงสุด

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          วุ้นในใบว่านหางจระเข้มีสารเคมีหลายชนิด เช่น Aloe-emodin, Aloesin, Aloin, สารประเภท glycoprotein, และอื่นๆอีกมาก ยางที่อยู่ในใบว่านหางจระเข้มีสาร antraquinone ที่มีฤทธิ์ขับถ่ายด้วย ใช้ทำเป็นยาดำ มีการศึกษาวิจัยรายงานว่าวุ้นหรือน้ำเมือกของว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรังและแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นในใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสมานแผลได้ด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Ananas comosus (L.) Merr.

ชื่อวงศ์                : Bromeliaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : เหง้าทั้งสดและแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ไม้ล้มลุก สูง 90-100 ซม. ลำต้นใต้ดิน ปล้องสั้น ไม่แตกกิ่งก้านมีแต่กาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนถี่ ไม่มีก้านใบ ใบเรียวยาว โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ปลายแหลม ขอบใบมีหนาม แผ่นใบสีเขียวเข้มและเป็นทางสีแดง ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเรียงอัดกันแน่นรอบแกนช่อดอก ก้านช่อใหญ่แข็งแรง กลีบดอก 3 กลีบ ด้านบนสีชมพูอมม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียบกัน 2 ชั้น ผล เป็นผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล เรียกว่าตะเกียง ผลสุกสีเหลืองสดและฉ่ำน้ำ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหวานเย็น ขับปัสสาวะ  แก้ปัสสาวะพิการ  แก้นิ่ว  แก้หนองใน  ขับระดูขาว ใช้เหง้าสดหรือแห้งวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • สำหรับการบริโภคสับปะรดที่เหมาะสมต่อวัน คือ เนื้อสับปะรด 2 ชิ้น ซึ่งจะมีวิตามินซีอยู่ประมาณ 100 มิลลิกรัม สับปะรดที่ถูกแปรรูปแล้ว และอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำสับปะรด ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักมีสารโบรมีเลนอยู่ประมาณ 500 มิลลิกรัม
  • สำหรับการใช้สารโบรมีเลนที่เป็นสารสกัดจากสับปะรดเพื่อผลทางการรักษา ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาปริมาณตามความเหมาะสม (โดยปริมาณทั่วไปอยู่ที่ครั้งละ 40 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน) ส่วนในขนาดการใช้ตามตำราสมุนไพรคือ แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ ใช้เหง้าสดหรือแห้งวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร บรรเทาอาการปวดของโรคเกาต์ โดยทานสับปะรด 1/4 ผล (ขนาดเล็ก) วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมงครึ่ง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ลำต้น มี Bromelain, Peroxidase, Amylase, Proteinase

ใบ มี Hemicellulose, Bromelain, Campestanol

ผล มี Acetaldehyde, Ethyl acetate, Acetone

น้ำมันหอมระเหย มี Isobutanol

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Azadirachta indica A.Juss.

ชื่อวงศ์                : Meliaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ยอดและดอกสะเดา มักออกยอดและดอกในฤดูหนาว

ลักษณะภายนอก :

ใบมีสีเขียวเข้มหนาทึบ เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ใบย่อยติดตรงข้ามหรือกิ่งตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปเคียวโค้ง กว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสขม ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ด้วยการใช้ช่อดอกนำมาลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวานหรือน้ำพริก หรือจะใช้เปลือกสดประมาณ 1 ฝ่ามือนำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว ช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหารทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย นำใบสะเดามาต้มในน้ำร้อน ใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง ก็จะช่วยให้เลือดสะอาด เป็นการล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ช่วยทำให้นอนหลับสบาย หรือหากนอนไม่หลับ ให้ใช้ใบและก้านสะเดาประมาณ 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยาแล้วต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 เวลา
  • ไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ให้ใช้ยอดอ่อนหรือดอกลวกจิ้มกินกับน้ำพริก อาการจะบรรเทาภายใน 24 ชั่วโมง หรือจะใช้ใบทั้งก้านและดอกนำมาตากแดดจนแห้ง ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารขณะอุ่น ๆ ไม่เกิน 3 วัน ไข้จะหาย หรืออีกสูตรให้ใช้ก้านสะเดา 33 ก้าน ต้มกับน้ำ 3 แก้วจนเหลือ 1 แก้วแล้วดื่มให้หมด แล้วเอายาใหม่มาต้มกินอีกวันละ 3-4 ครั้ง หรือจะใช้รากสะเดาประมาณ 1 กำมือ ยาวหนึ่งฝ่ามือ ต้มกับน้ำจนเดือดนาน 10-15 นาที ใช้กินก่อนหรือหลังอาหารครั้งละครึ่งแก้ว ทุก ๆ 4 ชั่วโมง จะทำให้ความร้อนลดลง อาการไข้จะหาย
  • แก้อาการไอ ด้วยการใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 4 วัน
  • ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ใบสะเดา ใบพริกขี้หนู และรากกระเทียม (อย่างละเท่ากัน) นำมาหั่นเป็นฝอยแล้วตากแห้ง ไว้มวนสูบ
  • แก้ปากเปื่อยหรือริมฝีปากเป็นแผล มีอาการเจ็บแผลเมื่อกินรสจัด หรือกินอาหารไม่ค่อยได้ มีอาการเจ็บคอ ให้กินยอดสะเดาลวก 3 วัน จะหายเป็นปกติ
  • รักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ใช้เปลือกสะเดานำมาต้มกับเกลือประมาณ 10-15 นาที แล้วใช้อมวันละ 2-3 ครั้ง
  • ช่วยขับเสมหะ แก้กองเสมหะ หรือหากคอมีเสมหะให้ใช้รากสะเดา 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม แล้วต้มประมาณ 10-15 นาที ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้เสมหะที่ติดคอถูกขับออกมา น้ำลายจะหายเหนียว
  • แก้บิด อาการบิดเป็นมูกเลือด โดยใช้เปลือกสะเดา 1 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำ 2 แก้วให้เดือดประมาณ 10 นาที ใช้กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยอดสะเดา 7 ยอดโขลกกับกระเทียม 3 กลีบ ใส่น้ำตาลอ้อยพอให้มีรสหวาน คลุกเคล้าจนเข้ากัน กินครั้งเดียวให้หมด โดยกินทุก 2 ชั่วโมง หากอาการทุเลาลงแล้วให้กินทุก 4 ชั่วโมง หรืออีกสูตรให้ใช้ใบสะเดาแก่ 1 กำมือ นำมาตำคั้นกับน้ำต้มสุก 1 แก้วแล้วกินให้หมด
  • รักษาริดสีดวงในลำไส้ มีอาการปวดท้อง ปวดเจ็บในลำไส้ ถ่ายออกมาเป็นเลือด ให้ใช้รากสะเดานำมาฝนใส่น้ำมะพร้าว ใช้กินก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา
  • รักษารังแคและอาการคันหนังศีรษะ ใช้น้ำต้มใบสะเดาล้างหลังสระผมแล้ว จะช่วยรักษารังแค กำจัดแบคทีเรียบนหนังศีรษะ แก้อาการคัน หนังศีรษะแห้งเป็นขุยได้
  • ล้างตา ต้มใบสะเดาสดประมาณ 10 นาที ทิ้งไว้ให้เย็นนำน้ำต้มมาล้างตา รักษาอาการเคืองตา ตาอักเสบ โรคติดเชื้อได้ดี

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          สารรสขมที่มีอยู่ในสะเดา คือ Nimbidin และมีรายงานวิจัยว่า สิ่งสกัดจากใบสะเดามีฤทธิ์ฆ่าแมลง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Barleria lupulina Lindl.

ชื่อวงศ์                : Acanthaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ใบสด

ลักษณะภายนอก :

จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนกิ่งและก้านเป็นสีน้ำตาลแดง ตามข้อของลำต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมคมและยาวสีน้ำตาลข้อละ 2 คู่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นใบและก้านเป็นสีแดง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลม 1 คู่ โค้งงอ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร สีม่วงชี้ลง

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

ใบเสลดพังพอน มีรสจืดเย็น ใช้เป็นยาทะลวงลมปราณ แก้โรคเบาหวาน รักษาโรคคางทูม ช่วยถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ แก้ปวดฟัน เหงือกบวม แก้ริดสีดวงทวาร นิยมใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอกหรือทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • รักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ รักษาแผลร้อนในในปาก เริม งูสวัด

– ใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสด 10-20 ใบ (เลือกใบสีเขียวเข้มสดเป็นมันไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป)นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกแผล

– ใช้ใบเสลดพังพอน 1,000 กรัม หมักใน alcohol 70 % 1,000 ซีซี. หมักไว้ 7 วัน นำมากรองแล้วเอาไประเหยให้เหลือ 500 ซีซี. เติม glycerine pure ลงไปเท่ากับจำนวนที่ระเหยไป (500 ซีซี.) นำน้ำยาเสลดพังพอนกรีเซอรีนที่ได้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก ถอนพิษต่างๆ

  • ทาบริเวณที่แมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคัน

– ใช้ใบสด 5-10 ใบ ตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะยุบหายได้ผลดี

  • แก้แผลน้ำร้อนลวก

– ใช้ใบตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผลที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ แผลจะแห้ง

– นำใบมาตำให้ละเอียดผสมกับสุรา ใช้พอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก มีสรรพคุณดับพิษร้อนได้ดี

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          ใบสดประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิดคือ 6-0-acetyl shanzhiside methylester, acetylbarlerin, barlerin, betaine, betaine hydrochloridem, shanzhiside methylester การทดลองทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัด iridoid 4 ชนิด จากเสลดพังพอนสามารถลดการอักเสบได้ ดังนั้นจึงมีผลต่อการรักษาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Acacia catechu (L.f.) Willd.

ชื่อวงศ์                : Leguminosae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ก้อนสีเสียด (ก้อนสีเสียดเป็นสิ่งสกัดที่ได้จากการนำเนื้อไม้มาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกรอง และเคี่ยวให้งวด จะเหลือก้อนแข็ง สีดำ และเป็นเงา)

ลักษณะภายนอก :

ได้จากการนำแก่นต้นสีเสียด สับให้เป็นชิ้นๆ แล้วต้ม และเคี่ยว หลังจากนั้นระเหยน้ำที่ต้มได้ให้เหนียวข้น จะได้ของแข็งเป็นก้อน สีน้ำตาลดำ เป็นมัน แข็ง รูปร่างไม่แน่นอน ผิวนอกหยาบ มีด้านในด้านหนึ่งที่แตกจะมันวาว ไม่มีกลิ่น รสขม ฝาดจัด

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

มีฤทธิ์ฝาดสมาน ก้อนสีเสียดและเปลือกต้นสีเสียด มีสรรพคุณช่วยปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดง ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ ช่วยแก้ปากเป็นแผล ช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก รวมถึงอาการเจ็บที่มีเลือดออก ใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • ก้อนสีเสียดช่วยฝาดสมาน
  • แก้อาการท้องเดิน
    ใช้ผงประมาณ 1/3 -1/2 ช้อนชา (หนัก 0.3-1 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม
  • แก้แผลเรื้อรัง
    ใช้เปลือกต้น ต้มกับน้ำ ใช้ล้างแผล หัวนมแตก ใช้ล้างแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง น้ำกัดเท้า
  • แก้โรคหิด
    ใช้เมล็ดฝัก ฝนทาแก้โรคหิด แผลน้ำกัดเท้า

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

ก้อนสีเสียดประด้วย catechin 2-20%, catechu-tannic acid 25-35%, epicatechin, dicatechin, และสารอื่นๆ เนื่องจากมีปริมาณของ tannin สูงจึงมีฤทธิ์ฝาดสมาน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (แต่ต้องระวังขนาดที่ใช้ ถ้าใช้มากจะเกิดอาการข้างเคียงได้)

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Imperata cylindrica (L.) Raeusch.

ชื่อวงศ์                : Poaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : รากสดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

เป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสจืด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นยาขับปัสสาวะ รากใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคตานขโมย ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาทีจนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

  • แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ใช้รากแห้ง ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำใส่น้ำ 250 ม.ล. แล้วต้มให้เหลือ 50 ม.ล. กินตอนอุ่นหรือเย็น วันละ 3 ครั้ง
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้รากแห้ง ประมาณ 30 กรัม ต้มน้ำกินหรือจะใช้ผสมรากบัว 15 กรัม ต้มน้ำกินก็ได้
  • แก้ปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ ใช้รากหญ้าคาสด 500 กรัม หั่นให้เป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วย ต้มให้เดือด จนรากจมน้ำรินกินตอนอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย กลางวัน 5-6 ครั้ง กลางคืนอีก 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้รากสด 1 กำมือ ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือ  15 มิลลิลิตร รินกินตอนอุ่นๆ หรืออาจจะใช้รากแห้งกับ เมล็ดผักกาดน้ำ อย่างละ 30 กรัม และน้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มร่วมกันแล้วรินน้ำกิน
  • แก้ปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ใช้รากสด 250 กรัม ใส่น้ำ 2 ลิตร แล้วต้มต่อไปให้เหลือ 1.2 ลิตร ใส่น้ำตาลนิดหน่อยแล้วรินเอาน้ำแบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือใช้รากแห้งชงกินแทนชาติดต่อกัน 5-15 วัน
  • แก้ออกหัด ร้อนในกระหายน้ำ โดยรากแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มบ่อยๆ
  • แก้เลือดกำเดาออกใช้ดอกแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำกินหลังอาหาร หรือใช้ดอกแก่ 15 กรัม ต้มน้ำกินแทนก็ได้ หรือใช้รากแห้งบดเป็นผง 2.6 กรัม ผสมน้ำซาวข้าวกินก็ได้เช่นกัน และสำหรับขณะที่เลือดกำเดาออก ให้ใช้ช่อดอกแห้งหรือขนตำอุดรูจมูกไว้เพื่อห้ามเลือด
  • แก้หอบให้ใช้รากสด กับเปลือกต้นหม่อน อย่างละเท่าๆ กัน (ประมาณ 1 กำมือ) ใส่น้ำ 2 ชาม ต้มจนให้เหลือน้ำ 1 ชามรินออก กิน เช้า-เย็น
  • แก้ไตอักเสบ โดยใช้รากแห้งกับดอกเจ๊กกี่อึ้ง อย่างละ 30 กรัม เปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม เหล้าขาว 3 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2 ครั้ง หรือใช้รากสด 60-120 กรัม ต้มน้ำกิน วันละ 2-3 ครั้ง ก็ได้
  • แก้ดีซ่าน จากพิษสุรา ใช้รากสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม กิน
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อักเสบในทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน แก้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ส่วนการใช้ในสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนจีนตามที่ได้กล่าวมาให้ใช้ รากหญ้าคา 9-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม โดยใช้ราก 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม หรือแห้ง 10-15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

          จากการวิเคราะห์พบว่า รากหญ้าคามี Arundoin, Cylindrin, กรดอินทรีย์น้ำตาล เป็นต้น ไม่มีพิษเฉียบพลัน และไม่มีการวิจัยด้านอื่น จากวารสารมีรายงานว่า ประเทศจีน-อินโดนีเซีย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Cyperus rotundus L.

ชื่อวงศ์                : Cyperaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : หัวใต้ดิน

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นใต้ดินรูปกระสวย แข็ง สีน้ำตาลดำ เห็นเป็นข้อๆ ผิวไม่เรียบ มีความเหนียว ยาว 1.5-3 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ผิวนอกสีเทาน้ำตาลถึงสีเทาดำ มี 5-8 ข้อ แต่ละข้อมีขน เนื้อภายในสีเหลืองถึงน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดปร่า และขม

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

หัวรสซ่าติดจะร้อนเผ็ด ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนผิดปกติ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์รักษา (บำรุงทารกในครรภ์)  เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงี่อ ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้ไข้ เป็นยาฝาดสมาน สงบประสาท เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้อาเจียน แก้โรคตับอักเสบ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้แห้วหมูในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของหัวแห้วหมูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :

หัวแห้วหมู 1 กำมือ (60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตกต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้หัวสด ครั้งละ 5 หัว โขลกให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งรับประทาน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

หัวหญ้าแห้วหมูมีน้ำมันหอมระเหย และมีรายงานว่ามีฤทธิ์คลาย อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยขับปัสสาวะ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Saccharum officinarum L.

ชื่อวงศ์                : Poaceae

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ลำต้นทั้งสดหรือแห้ง

ลักษณะภายนอก :

ลำต้นแข็งแรง ต้นมีลักษณะคล้ายต้นอ้อยทั่วไป แต่จะมีสีม่วงแดง ถึงดำ มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ลำต้นกลมยาว เห็นข้อและปล้องชัดเจน แต่ละปล้องอาจยาวหรือสั้นก็ได้  ผิวเรียบ เปลือกสีแดงอมม่วง มีตาออกตามข้อ ลำต้นแข็งเป็นมัน เนื้ออ่อน ฉ่ำน้ำ เปลือกมีรสขม น้ำไม่ค่อยหวานแหลมเหมือนอ้อยธรรมดา มักมีรากอากาศอยู่ประปราย

รสยาและสรรพคุณยาไทย :

รสหวานและขม แก้ปัสสาวะพิการ แก้ขัดเบา ลำต้นทั้งสดหรือแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคนิ่ว อาการไอ แก้ไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ แก่น ผสมกับแก่นปีบ หัวยาข้าวเย็น ต้มดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ ยาฟอกเลือด แก้ช้ำบวม กินแก้เบาหวาน แก้ไอ ขับเสมหะ เปลือกต้น รสหวานขม แก้ตานขโมย แก้แผลเน่าเปื่อย แผลกดทับ ชานอ้อย รสจืดหวาน แก้แผลเรื้อรัง แก้ฝีอักเสบบวม ลำต้น น้ำอ้อย รสหวานขมชุ่ม แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้หืด ไอ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไข้สัมประชวน แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไตพิการ แก้หนองใน ขับนิ่ว แก้ช้ำรั่ว แก้ท้องผูก บำรุงกระเพาะอาหาร แก้ขัดเบา บำรุงธาตุ แก้สะอึก แก้เมาค้าง ท้องผูก รักษานิ่ว บำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร เจริญธาตุ รักษาตามืดฟาง กำเดา อาการอ่อนเพลีย ผายธาตุ  ตา รสหวานขม แก้ตัวร้อน แก้พิษตานซาง บำรุงธาตุน้ำ บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ราก ใช้รักษาไส้ใหญ่แตกพิการ ทำให้วิงเวียนหน้ามืดตาลาย ทำให้เจ็บหลังเจ็บเอว ท้องอืด บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต รักษาอาการอ่อนเพลีย และรักษาเลือดลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา :
ขับปัสสาวะ ใช้ลำต้นสด  1  กำมือ  สดหนัก  70-90  กรัม  แห้งหนัก  30-40  กรัม  หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :

มีรายงานว่าอ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในหมูขาว และกองวิจัยทางแพทย์กรมวิทยาศาสตร์

การแพทย์รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

Copyright © 2017. All rights reserved.